วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อหังการกับดาราศาสตร์

     ในวัยเด็ก   คนเราใฝ่ฝันอยากจะเป็นโน่นเป็นนี่แตกต่างกันไป   บางคนอยากเป็นตำรวจ ทหาร ช่วยปกป้องประชาชน และประเทศชาติ   บางคนอยากเป็นครูอาจารย์ถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียน   บางคนอยากเป็นแพทย์ พยาบาล เพื่อดูแลสุขภาพประชาชน   แต่คงมีน้อยคนที่อยากเป็นชาวนา   และคงจะมีบ้างที่อยากเป็น"นักดาราศาสตร์"
     สำหรับผู้ที่สนใจใน"ดาราศาสตร์"นั้น   ส่วนใหญ่แล้วมักจะรู้จักมักจี่กับ"คนที่ชอบดูดาว"(ซึ่งบุคคลเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นนักดาราศาสตร์ก็ได้)   ซึ่งเปรียบได้กับอัจฉริยะทางดนตรีที่มักมีพ่อแม่เป็นนักดนตรีด้วย   ความสนใจในดาราศาสตร์นั้นอาจเกิดจากการอยากรู้อยากเห็นอันเป็นลักษณะโดยทั่วไปของเด็กๆอยู่แล้ว   โดยเรามักจะมีคำถามสำคัญเกิดขึ้นในหัวสมองก็คือ   มีมนุษย์โลกอยู่ในจักรวาลเท่านั้นจริงๆหรือ?
     วันเวลาผ่านไป   เด็กๆเหล่านั้นได้หมั่นศึกษาโดยเริ่มจากส่วนที่เล็กที่สุด คือ โลกมนุษย์ของเรา   ไปสู่ส่วนที่กว้างใหญ่ขึ้น   อันได้แก่   "ระบบสุริยจักรวาล"   และใหญ่ขึ้นอีกเป็น"กาแล็กซี่"   และ"เอกภพ" ตามลำดับ   เมื่อศึกษามาจนถึงส่วนที่กว้างใหญ่ที่สุดอันได้แก่   "เอกภพ" แล้ว   หลายคนจะเริ่มเข้าใจ   และเข้าถึงบางสิ่งบางอย่าง...
     ผมขอพลิกไปยังอีกมุมหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างออกไป   เป็นเหตุการณ์ในงานราตรีสโมสรที่รวมเอาบรรดาอัจฉริยบุคคลทั้งแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์มารวมไว้ในสถานที่แห่งหนึ่ง   และคุณก็คือแขกรับเชิญคนสำคัญคนหนึ่งในงานนี้   เพียงแต่คุณคือ  บุคคลธรรมดาที่แต่งกายได้อย่างเหมาะสมตามประเพณีนิยม   คุณค่อยๆเดินฝ่าเข้าไปในกลุ่มอัจฉริยบุคคลเหล่านั้น   คุณคงจะได้ยินสรรพสำเนียงและคำพูดโอ้อวดสรรพคุณของตนเองพรั่งพรูเต็มสองรูหูของคุณจนมึนงงไปหมด   ใช่แล้วครับ!   ท่านอัจฉริยบุคคลเหล่านี้ได้ผ่านการศึกษาค้นคว้าวิจัยมาอย่างหนัก   ใช้เวลาหลายสิบปี   กว่าจะได้บทสรุปอันเป็นงานวิจัยอันยอดเยี่ยมซึ่งสามารถ"เปลี่ยนโลก"ได้   ฟังดูแล้วน่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง ที่มนุษย์เพียงไม่กี่คนจะสามารถทำให้โลกมนุษย์ของเราเจริญก้าวหน้าได้ถึงเพียงนี้   และผมก็พอจะบอกได้ว่า   ท่านอัจฉริยบุคคลเหล่านั้น คงรู้สึกปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่ง จนหัวใจพองโตคับหน้าอก   และคงรู้สึกว่าตนเองเป็น"บุคคลพิเศษ"ซึ่งมีสถานะอยู่เหนือผู้อื่น   ประดุจว่ามีร่างกายใหญ่โตจนคับโลก
     คุณคงจะเห็นแล้วว่า   ณ จุดนี้ได้เกิด"ชนชั้น"ทางสังคมขึ้นมา   เนื่องด้วยมีคนกลุ่มหนึ่งที่คิดว่า ตัวเองยิ่งใหญ่มาก(แน่นอน...เขามีความสุขมากที่ได้คิดอย่างนั้น)   แต่ก่อนอื่น   ขออนุญาตพาท่านมองย้อนกลับไปในประเด็นที่ว่า   ถ้าคุณมีความสนิทสนมกับ"ดาราศาสตร์"อย่างลึกซึ้งแล้ว   คุณน่าจะมองเห็นอะไรบางอย่างที่หลายคนไม่เคยตระหนักเลย   ผมมั่นใจว่าคนที่สนใจดาราศาสตร์ ย่อมมองเห็นความเป็น"เศษธุลี"ของมนุษย์โลก   มองเห็นภาพ"เอกภพ"อันกว้างใหญ่ซึ่งประกอบไปด้วย"กาแล็กซี่"จำนวนมากมายมหาศาล   ซึ่งในแต่ละ"กาแล็กซี่"ก็ประกอบไปด้วย"ระบบสุริยจักรวาล"เหลือคณานับ   ยังไม่หมดครับ   "ระบบสุริยจักรวาล"ของเราก็ประกอบไปด้วยดาวเคราะห์ทั้งหมด ๘ ดวง(ในปัจจุบันนี้   เราไม่นับดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์ดวงที่๙ในระบบสุริยจักรวาลของเราแล้ว)   ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ "โลกมนุษย์"ของเรานั่นเอง
     เห็นไหมครับว่า   ถึงคุณจะครองโลกได้   หรือได้เป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกก็ตาม  คงจะเปรียบเทียบได้ว่า   คุณเป็นเจ้าของเม็ดทรายเพียงแค่เม็ดเดียวในหาดทรายอันกว้างใหญ่หลายพันแห่ง   คราวนี้คงจะเห็นแล้วนะครับว่า   ผู้ที่เป็นเจ้าของเม็ดทรายเพียงแค่เม็ดเดียวนั้นไม่ได้มีความแตกต่างจากผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของเม็ดทรายเลยแม้แต่เม็ดเดียว   จิตใจของเราเองต่างหากที่หลงปรุงแต่งสถานะตลอดจน"ชนชั้น"ขึ้นมา   แล้วทำให้เกิดความวุ่นวายในสังคมขึ้น   วุ่นวายอย่างไรหรือครับ?   กล่าวคือ   กลุ่ม"ชนชั้นสูง"ได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าคนธรรมดาสามัญอย่างชัดเจน   และนำไปสู่"ความอยุติธรรม"ในสังคม   นอกจากนั้น   ยังมีประเด็นสำคัญในแง่การบริหารจัดการ   กล่าวคือ   กลุ่มชนชั้นสูงเหล่านั้นย่อมเกิด"อหังการ"ว่า   ความคิดของตนนั้นถูกต้องเหมาะสม   และไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมงาน   ซึ่งทำให้เกิดความล้มเหลวในการทำงานเป็นทีม   ถ้ามองรวมทั้ง ๒ ประเด็น คือ   ความอยุติธรรม และความอหังการแล้ว   สิ่งที่จะตามมาคือ   ความแตกแยกของคนในสังคม   ซึ่งพอจะตอบคำถามที่ว่า   ทำไมอัจฉริยบุคคลเต็มบ้านเต็มเมือง   แต่โลกกลับดำเนินไปในทางที่แย่ลงๆโดยมองจากภาพรวม   ผมไม่เถียงว่า   เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า   แต่เราคงต้องมองในส่วนของสังคม   สิ่งแวดล้อม   การเมือง   จริยธรรม   วัฒนธรรม   และเศรษฐกิจด้วย   ซึ่งถ้าโลกเรามีทีมที่ประกอบไปด้วยบุคคลผู้ไม่มีความอหังการมาช่วยวางแผนพัฒนา และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว   หลายสิ่งหลายอย่างคงดีขึ้นอย่างแน่นอน
     ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น   คงพอจะทำให้คุณมองเห็นได้ว่า"อหังการ"เกี่ยวข้องกับ"ดาราศาสตร์"ได้อย่างไร   หวังว่า   เมื่อคุณได้อ่านข้อเขียนนี้จบลงแล้ว   คงจะมีผู้ที่สนใจอยากจะดูดาวกันมากขึ้นนะครับ   ก่อนจากกัน   ขอฝากคำขวัญสั้นๆไว้ว่า"ดูดาววันละนิด   พลิกความคิด   ปิดประตูอหังการ"

วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ห้องหมายเลข ๔

     คำแนะนำก่อนการอ่าน
     ๑.ถ้าผู้อ่านมีอายุน้อยกว่า ๑๕ ปี   ผู้ปกครองควรพิจารณาให้คำแนะนำในการอ่าน
     ๒.ข้อความที่พิมพ์ด้วยตัวอักษรตัวหนาและถูกขีดฆ่า   คือ   สิ่งที่ตัวละครคิดและอยากพูด   แต่ไม่กล้าพูดออกมา  
     ๓.กรุณาอย่าหลอกตัวเอง   และควรทำใจให้ยอมรับความเป็นจริงในสังคมกันบ้าง    แต่ถ้าคุณไม่สามารถยอมรับได้แล้วละก็... ให้อ่านเฉพาะข้อความตรงที่ไม่ถูกขีดฆ่าก็ได้
     ๔.เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้น   ตัวละครทั้งหมดในเรื่องเป็นตัวละครที่ถูกสมมุติขึ้นมาทั้งสิ้น  


     วันที่ ๑๕ พ.ค. ๒๕๔๘
     เวลา ๑๔.๓๘ น.
     ณ บริเวณหน้าห้องสอบสัมภาษณ์หมายเลข ๔ ของคณะแพทยศาสตร์แห่งหนึ่ง   "สมชาย"คือผู้โชคดีคนหนึ่งที่ใช้ความมานะบากบั่นฝ่าฟันการสอบอันแสนหฤโหด จนสอบได้คณะแพทยศาสตร์แห่งนี้   ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันที่มีคนอยากเรียนมากเป็นอันดับที่ ๑ ของประเทศไทย   สีหน้าและท่าทางของเขาแสดงออกถึงความมั่นใจที่มีอยู่เต็มเปี่ยมเกิน ๑๐๐ เปอร์เซนต์
     เจ้าหน้าที่คนหนึ่งกวักมือเรียกให้เขาเข้าไปในห้องหมายเลข ๔    เขาเดินเข้าไปในห้องด้วยอาการอันสงบ   เอาละครับ...คุณไม่ต้องรู้ว่า"ผม"คือใคร...   ขอแต่เพียงให้รับทราบว่า   "ผม"รู้และเห็นในทุกสิ่งที่มนุษย์โลกคิด   พูด   และทำ   ไม่มีใครหลอกผมได้    เชิญคุณอ่านต่อเอาเองเถอะครับว่า   เขาคุยอะไรกัน   เพื่อจะได้เอาเนื้อหาที่ได้รับไปแนะนำน้องๆ หรือลูกๆหลานๆที่กำลังจะสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ให้ได้ทราบแนวทางในการสอบสัมภาษณ์   ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับเขาต่อไป

     สมชาย-      สวัสดีครับ
     อาจารย์๑-   เชิญนั่งครับ   ตามสบายเลยนะ
     สมชาย-      ขอบคุณครับ
     อาจารย์๒-  หมอเรียนจบจากไหนครับ?
     สมชาย-      โรงเรียน***ครับ
     อาจารย์๓-   เกรดเฉลี่ยตลอดชั้นม.ปลายได้เท่าไหร่คะ?
     สมชาย-      เป็นแบบนี้กันทุกทีเลยนะครับ   เอะอะก็ถามแต่เรื่องเกรดก่อน   ผมสงสัยจริงๆเลยว่า   ไอ้ตัวเลขพวกนี้มันบอกคุณภาพหรือคุณค่าของคนแต่ละคนได้มากน้อยแค่ไหนกัน    หรือว่าคนในสังคมเขาวัดคุณค่าความเป็นคนด้วยเกรดเฉลี่ย
     สมชาย-      ก็ไม่เท่าไหร่หรอกครับ   แค่๓.๙๓
     อาจารย์๒-   ผมว่า  ก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าโรงเรียน***มีชื่อเสียงมาก   และมีแต่นักเรียนเก่งๆทั้งนั้น   แล้วโรงเรียนของหมอสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ได้ทั้งหมดกี่คนครับ?
     สมชาย-       ผมคิดว่า   โรงเรียนที่มีชื่อเสียงนั้นไม่สำคัญมากมายนักหรอกครับ   ขึ้นอยู่กับว่า    เด็กแต่ละคนมีพื้นฐานทางวิชาการที่ดีเพียงใด   และตั้งใจเรียนแค่ไหน   และที่ผมรู้สึกรำคาญใจมาตลอดก็คือ   ทำไมพ่อแม่ของเด็กถึงต้องมีอาการ"บ้าสถาบัน"กันเกินกว่าเหตุ   ทุ่มเงินให้ลูกเรียนพิเศษ   บำรุงบำเรอตามใจลูกทุกอย่าง   เพื่อให้ลูกสอบเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงให้ได้   เสร็จแล้วก็เอาไปคุยโม้กับเพื่อนบ้าน   ญาติๆ   และเพื่อนๆที่ทำงานเดียวกัน   จนพวกเขาพากันเหม็นน้ำลายกันไปหมดแล้ว   ขณะเดียวกันก็ยกย่องคุณลูกทั้งหลายให้เป็น"ลูกบังเกิดเกล้า"   หรือจนถึงขั้นเป็น"เทวดาประจำครอบครัว"   ซึ่งนำไปสู่การเอาอกเอาใจและตามใจลูกทุกอย่างจน"เสียเด็ก"
     สมชาย-       สอบได้ ๑๓๙ คนครับ
     อาจารย์๑-    โอ้โห!   ได้ข่าวว่ามากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ
     สมชาย-       ใช่ครับ
     อาจารย์๔-    รู้สึกอย่างไรบ้างคะที่สอบได้ที่นี่?
     สมชาย-        คำถามแบบนี้น่าเบื่อมากเลยครับ   เหมือนกับที่นักข่าวถามนักแสดงที่ได้รับรางวัลใหญ่จากการแสดงว่ารู้สึกอย่างไร   ซึ่งมันก็แน่อยู่แล้วครับว่า   เขาต้องดีใจมาก   เขาคงไม่เสียใจ  หรือหวั่นวิตกอะไรหรอกครับ
      สมชาย-        ดีใจมากเลยครับ
      อาจารย์๒-     เลือกเรียนหมอเพราะอะไรครับ?
      สมชาย-         จริงๆแล้ว   ผมอยากเรียนหมอเพราะ...
๑.ไม่ต้องคอยลำบากเดินหางานตามบริษัทห้างร้าน    ซึ่งในที่สุดก็อาจต้อง"ทำวิจัยฝุ่น"   อาชีพหมอนี่แหละครับ   หางานง่าย   โดยเฉพาะในหน่วยงานของราชการ
๒.ได้เงินเยอะดี   ไอ้เรื่องนี้ก็แปลกดีนะครับ   สมัยนี้เวลาเพื่อนฝูงนัดพบปะสังสรรค์กันเมื่อใด   ก็มักจะชอบถามกันว่าทำงานอะไรเป็นอันดับแรก   และคำถามต่อมาก็คือ   ได้เงินเดือนเท่าไหร่   สุดท้ายแล้ว   คนที่ได้เงินเดือนน้อยกว่าก็รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจอย่างบอกไม่ถูก   คนที่ได้เงินเดือนเยอะกว่าก็รู้สึกว่า   ตัวเองวิเศษกว่าคนอื่น   สังคมทุนนิยมและบริโภคนิยมทำให้คนเราหน้ามืดตามัวได้ถึงเพียงนี้   จนกระทั่งมองเห็นแต่เฉพาะสีของธนบัตร   แล้วเดินเหยียบย่ำคุณธรรมที่ตกหล่นอยู่ตามพื้นจนป่นปี้ไม่มีชิ้นดี
๓.เอาไว้ส่งเสริมสถานะทางสังคมไงล่ะครับ   พอคนอื่นๆเขารู้ว่าคุณเป็นหมอแล้วนะครับ   ท่าทีของเขาจะเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังเท้าเลย   เขาจะปฏิบัติต่อคุณอย่างกับราชา   และคุณจะรุ้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่คับฟ้า   คราวนี้   ระบบเส้นสายแบบอภิสิทธิ์ชนก็จะพรั่งพรูตามมา   เกิดเป็นความอยุติธรรมในสังคมที่เห็นกันดาษดื่น
๔.ก็ต่อเนื่องจากข้อ๓.นั่นแหละครับ   เพราะว่าเมื่อคุณเป็นหมออยู่ที่โรงพยาบาล   คราวนี้แหละครับ   ใครก็อยากเป็นญาติของคุณทั้งนั้น(ถึงแม้บางครั้งอาจจะเป็นแค่ญาติปลอมๆก็ตาม)   เพราะถ้าญาติของหมอเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา   ก็จะใช้เส้นสายของหมอเข้าไปนอนป่วยได้อย่างสง่าผ่าเผยในห้องพิเศษซึ่งง่ายดายราวพลิกฝ่ามือ   ในขณะที่ชาวบ้านตาดำๆต้องรอคิวยาวกว่าจะได้เข้าไปนอน หรือบางครั้งก็ไม่ได้นอนด้วยซ้ำไป
๕.เพื่อที่จะเอาตำแหน่ง"แพทย์"ไปยืนยันกับคนอื่นๆว่า   ตนเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ   และเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือเป็นที่สุด   ซึ่งในจุดนี้เอง   เราจำเป็นต้องใคร่ครวญให้ดีว่า    ในสังคมย่อยๆทุกสังคม   ไม่เว้นแม้แต่สังคมของแพทย์เอง   ย่อมมีคนที่ดีและเลวอยู่ปะปนกัน   ไม่มีสังคมใดที่มีเฉพาะแต่คนดี หรือคนเลวไปทั้งหมด   เพราะฉะนั้น   คนที่เป็น"หมอ" ก็มีดีและเลวปะปนกันไป   คำว่า"พ.บ."  "น.พ."   หรือ "พ.ญ." ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันความดีของคนครับ
     สมชาย-         เพราะหมอได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์   ทำให้คนเจ็บป่วยมีอาการดีขึ้น   หรือหายเป็นปกติ   ซึ่งในจุดนั้นจะทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้น   และถ้าเขาเป็นที่พึ่งสำคัญของครอบครัวแล้ว   ก็มีผลช่วยให้ชีวิตของคนในครอบครัวดีขึ้นด้วยครับ   นอกจากนั้น   อาชีพหมอยังทำให้เพื่อนมนุษย์มีความสุขด้วย   เพราะกายและใจเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กัน   ถ้ากายป่วยแล้ว   ใจก็จะป่วยด้วย   จิตใจอันเต็มไปด้วยความห่วงใยของหมอ   ตลอดจนการรักษาที่ได้มาตรฐาน   จะทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นทั้งกายและใจ
     อาจารย์๓-      แล้วทำไมถึงเลือกเรียนแพทยศาสตร์   และไม่เลือกเรียนทันตแพทย์ หรือสัตวแพทย์  ซึ่งก็เป็นหมอเหมือนกัน
     สมชาย-         คืออย่างนี้นะครับ   ตั้งแต่ผมเกิดมาและใช้ชีวิตมาตลอด ๑๗ ปี   สังคมได้สอนอะไรๆให้กับผมไว้มากมาย   แต่สอนกันแบบผิดๆทั้งนั้น   และผมก็ไม่แน่ใจว่า   ผู้ใหญ่คนไหนสอนผมไว้บ้าง   รวมทั้งทำไมถึงสอนกันแบบนี้   ตอนที่ผมยังเด็กอยู่   มีผู้ใหญ่หลายคนได้สอนให้ผมยกย่องเชิดชูทุกๆอาชีพที่สุจริต   แต่ในตอนนี้   ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น   รู้สึกเหมือนถูกล้างสมองให้นิยมชมชอบแต่อาชีพที่ทำรายได้สูงๆ   แล้วก็เป็นอาชีพที่บ่งบอกว่า   ผู้นั้นเป็นคนฉลาด   มีภูมิปัญญาอันล้ำเลิศและเป็นพวกหัวกะทิ   อาชีพเหล่านั้นก็คือ   แพทย์ และวิศวกร   ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมถึงคิดแบบนี้ได้   และคิดแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่   และถ้าให้ผมตอบคำถามนี้   ก็คงต้องบอกตามตรงว่า   สังคมทำให้ผมเกิดความคิดว่า   แพทย์เก่งกว่าทันตแพทย์ และสัตวแพทย์   ทั้งๆที่ต้องเรียน ๖ ปีเท่ากัน   มันเป็นความคิดที่ไม่เข้าท่ามากๆ   แต่ผมก็เห็นคนที่มีการศึกษาสูงๆคิดแบบนี้เต็มไปหมด
      สมชาย-        แพทย์สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากกว่าทันตแพทย์และสัตวแพทย์ครับ   แพทย์เรียนรู้ทุกระบบในร่างกายมนุษย์   และสามารถแก้ปัญหาได้ทั่วร่างกายมนุษย์   ในขณะที่ทันตแพทย์จะแก้ปัญหาได้เฉพาะที่เกี่ยวกับช่องปาก และระบบทางเดินอาหารเท่านั้น   ส่วนสัตวแพทย์ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาในร่างกายมนุษย์ได้เลยครับ
     อาจารย์๓-     ทำไมถึงเลือกเรียนที่นี่เป็นอันดับ๑คะ?
     สมชาย-         เพราะอยู่ใกล้บ้านที่สุดครับ   นั่งรถเมล์ไม่กี่ป้ายก็ถึงแล้วครับ   เหตุผลมีแค่นั้นจริงๆครับ
     สมชาย-         เพราะมหาวิทยาลัย****เป็นสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมายาวนานแล้ว   มีศิษย์เก่าที่จบจากคณะแพทยศาสตร์ไปทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติมากมายหลายต่อหลายท่าน   นอกจากนั้นยังเป็นโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยมารับการรักษามากที่สุดในประเทศ   และมีเทคโนโลยีทางการแพทย์อันทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปเอเชียครับ
     อาจารย์๑-      ถ้าหมอเรียนจบหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตหลักสูตร ๖ ปีแล้ว   อยากจะเรียนต่อเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไหนครับ?
     สมชาย-         ก็คงจะเรียนในสาขาที่ได้ค่าตอบแทนมากๆ   ทำงานน้อยๆ   อยู่เวรน้อยๆ   แปลกนะครับ   ตอนผมเป็นเด็ก   ผมก็ไม่ได้คิดแบบนี้นะครับ   แต่แปลกใจเหมือนกันว่า   ใครสอนให้ผมคิดแบบนี้   หรือว่าผมคิดแบบนี้ขึ้นมาเอง(!?!)
     สมชาย-         ตอนนี้   ผมยังไม่แน่ใจว่าจะเรียนต่อในสาขาใดครับ   คงต้องขอเวลาศึกษาลักษณะงานของแต่ละสาขาดูก่อน   แล้วจึงค่อยตัดสินใจอีกทีครับ
     อาจารย์๒-     หมอรู้จักคุณ ชยา   รุ่งสุวรรณไหมครับ?(อาจารย์จะทดสอบความรู้รอบตัว)
     สมชาย-         อ๋อ!   ไอ้เศรษฐีหมื่นล้านที่ทำธุรกิจเปลี่ยนอวัยวะจากมนุษย์โคลนนิ่งมาใส่ในคนไข้โรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องเปลี่ยนอวัยวะใช่ไหมครับ   ผมว่ามันไร้คุณธรรมสิ้นดี   มันตกเป็นทาสผู้ซื่อสัตย์ของระบบทุนนิยมลวงโลกที่เห็นว่า   เงินทองสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใดๆ...แม้กระทั่งชีวิตคน...   มันฆ่ามนุษย์โคลนนิ่งเพื่อเอาอวัยวะไปแลกกับเงินอย่างเลือดเย็นที่สุด
     สมชาย-         ผมคิดว่า   คุณชยาเป็นผู้ให้ความหวังกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนอวัยวะเพื่อต่อชีวิตให้ยืนยาวต่อไป   ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยเหล่านั้นสามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้ต่อไป   นับเป็นก้าวใหม่ในวงการแพทย์ และวงการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะเลยทีเดียวครับ
     อาจารย์๔-     หมอมีงานอดิเรกอะไรบ้างคะ?
     สมชาย-         กินกับนอนครับ
     สมชาย-         ผมชอบฟังเพลงกับเล่นดนตรีครับ
     อาจารย์๔-     ชอบเพลงแนวไหนคะ?   เล่นดนตรีด้วยหรือเปล่าคะ?
     สมชาย-         ผมชอบแนว death metal กับ metal coreครับ   ผมชอบคณะ Napalm Death,Deicide, แล้วก็ Carnibal Corpseครับ   อ้อ! เกือบลืมBioharzard กับ Limp Bizkitซะแล้ว   ส่วนเครื่องดนตรีนั้น   ผมใช้กีตาร์ไฟฟ้าของ Jackson กับ ESP ครับ   แล้วก็ใช้แอมป์ของMesa-Boogie กับ Marshall ครับ
     สมชาย-         ถ้าเป็นวงดนตรีของไทย   ผมชอบคณะ"ฟองน้ำ" กับ "บอยไทย"ครับ  เพราะเป็นวงที่ผสมผสานระหว่างแนวดนตรีฝั่งตะวันตกและตะวันออกได้อย่างลงตัวเป็นที่สุด   แต่ถ้าเป็นศิลปินต่างประเทศแล้ว   ผมชอบ Miles Davisครับ   ท่านเป็นบิดาแห่งแนวดนตรีฟิวชั่นที่หาตัวจับยากมาก   มีน้อยคนนักที่จะเล่นดนตรีและแต่งเพลงได้เก่งกาจอย่างท่าน   ส่วนเครื่องดนตรีที่ผมชอบ คือ เปียโนครับ
     อาจารย์๑-     หมอชอบดูภาพยนตร์หรือเปล่าครับ?
     สมชาย-        ชอบมากครับ   หนังในดวงใจของผมคือเรื่องPsychoครับ   ผมชอบฉากที่ตัวละครเอกของเรื่องคือนอร์แมนฆ่าหญิงสาวในห้องน้ำ   มันช่างเป็นฉากที่สุดคลาสสิกและแสนงดงามจริงๆครับ   ส่วนเรื่องโปรดอีกเรื่องหนึ่งคือ   Halloween ครับ  ผมชอบฉากที่ไมเคิลเอามีดผ่าตัดจ้วงแทงเข้าไปในสันหลังของพยาบาลสาว...แล้วยกตัวเธอจนลอยขึ้นจากพื้น   มันช่างเป็นฉากที่สวยสุดๆเลยครับ
     สมชาย-        ผมชอบ The sound of music ครับ   พอดีคุณแม่เอาเรื่องนี้มาให้ดูตอนเด็กๆ   ฉากที่ร้องเพลงกันบนภูเขาช่างน่ารักและสดใสจริงๆ   ...อ้อ!   แล้วก็ E.T.ครับ  เป็นเรื่องที่ดูแล้วรู้สึกอบอุ่นมากๆ
     อาจารย์๒-    เอาละครับ   เมื่อหมอมาถึงจุดนี้แล้ว   ภูมิใจไหมครับ?   ที่สามารถฝ่าฟันเข้ามาจนได้เป็นว่าที่คุณหมอในอนาคต
     สมชาย-        ผมไม่ค่อยภูมิใจสักเท่าไหร่หรอกครับ   เพราะกว่าที่ผมจะมายืนอยู่ที่จุดนี้ได้   ผมก็ต้อง"เหยียบหัวคนอื่น"ขึ้นมาตั้งมากมาย   ซึ่งจริงๆแล้ว   ผมไม่อยากทำแบบนี้เลย   คนทึ่ทำแบบนี้ได้โดยไม่รู้สึกอะไรเลยนั้น   คงจะต้องมีจิตใจที่เหี้ยมเกรียม   และเลือดเย็นมากพอดู   พร้อมกับพกพาความเห็นแก่ตัวแบบสุดๆเลยทีเดียว   จึงจะมายืนอยู่ที่จุดนี้ได้   มีน้อยคนนักที่มีทั้งคุณธรรม และสติปัญญาควบคู่กันได้อย่างสมบูรณ์แบบ
     สมชาย-        ภูมิใจมากๆเลยครับ   โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ของผม
     อาจารย์๔-    หมอคิดอย่างไรบ้างกับหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต ๖ ปีในเมืองไทย   คิดว่าเป็นระยะเวลาที่เพียงพอไหมคะ?
     สมชาย-        พอดี   ผมรู้จักรุ่นพี่ที่โรงเรียนเก่าคนหนึ่งซึ่งสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ได้   และตอนนี้เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๖ แล้ว   เขาเคยคุยให้ฟังเกี่ยวกับหลักสูตร   ผมคิดว่า   ระยะเวลา๖ปีทำให้นักศึกษาแพทย์มีความรู้   ทักษะ   และความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น   แต่ยังไม่สมบูรณ์พอ   และถึงแม้จะเพิ่มระยะเวลาที่เรียนเป็น ๑๐ปี   หรือ๑๕ปี   ก็คงไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น   เพราะประเทศไทยเสพติดการป้อนความรู้ให้นักศึกษามากเกินไป   ไม่ค่อยได้กระตุ้นให้นักศึกษาคิดแก้ปัญหาเอง   เปรียบได้กับการป้อนข้าวให้เด็กที่ไม่รู้จักโตเสียที   ในที่สุด   เด็กก็หาข้าวกินเองไม่เป็น   เกิดเป็นความพิการทางองค์ความรู้   และตามมาด้วยความล้าหลังทางวิชาการและวิทยาการ   นอกจากนั้น   หลักสูตรแพทยศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเน้นในคุณธรรมและจริยธรรมเท่าที่ควร   ทำให้นักศึกษาแพทย์ที่เรียนจบออกไปใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่มุ่งเน้นไปในทางแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก   ซึ่งในปัจจุบัน   ถึงแม้ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรเพื่อแก้ไขปัญหาทางคุณธรรมและจริยธรรมไปบ้างแล้ว   ก็ยังไม่เห็นว่าสถานการณ์จะดีขึ้น   ผมคิดว่า   เราควรจะต้องหันไปใส่ใจแก้ปัญหากันที่"สถาบันครอบครัว"ซึ่งเป็นหน่วยย่อยที่สุดของสังคม
     สมชาย-        ผมคิดว่าระยะเวลา ๖ ปีน่าจะเพียงพอที่จะทำให้นักศึกษาแพทย์มีความรู้  ทักษะ  และความมั่นใจในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมตามมาตรฐานทางการแพทย์ครับ
     อาจารย์๓-    คิดอย่างไรบ้างคะกับคำว่า"หมอ"
     สมชาย-        ผมรู้สึกว่า   ในยุคสมัยนี้ไม่ค่อยมี"หมอ"ในประเทศไทยครับ   ผมมักจะเห็นแต่"พ่อค้า"ทำงานรักษาผู้ป่วยเพื่อแลกกับทรัพย์สินเงินทองมาบำรุงบำเรอความสุขส่วนตัว   คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ผมไม่เคยเห็นหมอที่ร่ำรวยจนมีรถยนต์ราคาหลายล้านบาทขับ   มีบ้านหลังใหญ่เหมือนปราสาทราชวัง   ใส่เสื้อผ้าเครื่องประดับราคาแพง   กินอาหารตามภัตตาคารหรูๆสัปดาห์ละหลายครั้ง   ก็มีรุ่นผมนี่แหละครับที่เริ่มเห็นหมอรวยๆแบบนี้   พวกเขาคงเอารัดเอาเปรียบคนไข้ไว้เยอะจนมั่งคั่งร่ำรวยกันขนาดนี้
     สมชาย-        หมอเป็นผู้ที่ช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคภัยไข้เจ็บ   ช่วยชุบชีวิตผู้ป่วยที่กำลังจะตาย   เป็นพ่อพระแม่พระผู้มีความเมตตากรุณา   และปรารถนาดีต่อผู้ป่วย   เป็นผู้เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขของสังคมครับ
     อาจารย์๑-    ถ้าหมอเจอคน ๓คน คือ   เด็กอายุ ๓ ปี   สตรีมีครรภ์   และชายชราอายุ ๗๐ ปี   กำลังจะจมน้ำตายพร้อมๆกัน   หมอจะเลือกช่วยคนไหนก่อนครับ?
     สมชาย-       ตามหลักจริยธรรมแล้ว   ควรจะต้องเข้าไปช่วยสตรีมีครรภ์ก่อน   เพราะว่าเปรียบได้กับการช่วยคนถึง ๒ คน   แต่ถ้าโชคร้ายที่ชายชราเป็นผู้ที่มีผลประโยชน์กับเราแล้ว   เราก็คงต้องเลือกช่วยชายชราก่อน      ซึ่งในสังคมปัจจุบันก็มักจะทำกันแบบนี้จริงๆ   มันทำให้ผมรู้สึกสับสนกับแนวความคิดของคนสมัยนี้มากว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องกันแน่   คนสมัยนี้มักมีหลักการและเหตุผลอันสวยหรูเอาไว้พูดเพื่อให้ตนเองดูดี   มีคุณค่า   และน่าเชื่อถือ   แต่เวลาปฏิบัติจริงแล้ว   เขาก็ทำลายหลักการที่พูดไว้จนป่นปี้หมด   แล้วต่อไป   เด็กไทยจะยึดถืออะไรเป็นกฎเกณฑ์ในชีวิตได้ในเมื่อผู้ใหญ่ในสังคมยังประพฤติตัวกันแบบนี้
     สมชาย-       ช่วยสตรีมีครรภ์ก่อนครับ   เพราะในอนาคตข้างหน้า   เธอผู้นั้นจะได้ให้กำเนิดบุตรที่เป็นกำลังสำคัญของสังคมต่อไป   และเธอก็อาจจะให้กำเนิดบุตรคนต่อๆไปได้อีก
     อาจารย์๑-    มีอาจารย์ท่านใดมีคำถามอีกไหมครับ?
     ..............
     อาจารย์๑-    ถ้าอย่างนั้นคงพอเท่านี้ครับ   ผลการสอบสัมภาษณ์เป็นอย่างไร   ทางเราจะติดต่อหมอเพื่อแจ้งให้ทราบอีกที   เชิญหมอไปพักผ่อนได้ครับ
      สมชาย-       ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

      เป็นอย่างไรบ้างครับ   คุณคงเห็นแล้วว่า   สิ่งที่เราคิดกับสิ่งที่เราพูดออกไปนั้น   ไม่จำเป็นต้องตรงกัน   ทำไมเหรอครับ?   ผมคิดว่า   คุณคงจะตอบได้เองว่าเพราะเหตุใด...คนเราถึงเป็นแบบนี้   ใครกันทำให้เขาเป็นแบบนี้   แต่สิ่งสำคัญที่ต้องแก้ไขคือ   ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนในสังคมแสดงออกในสิ่งที่เขาเป็นอยู่จริงๆ   ไม่เสแสร้งหลอกลวงไปเรื่อยๆ   เพราะถ้าการเสแสร้งยังไม่หมดไป   การแก้ไขก็ยังคงไม่ตรงจุดตรงประเด็นเสียที
     คนในสังคมถูกจำกัดสิทธิในการแสดงออกมากเกินไปหรือไม่?   คนเรามักถูกกำหนดให้แสดงออกในสิ่งที่ทำให้"ผู้รับสาร"ถูกใจ   แต่น่าเสียดายที่เป็นการหลอกลวง   และไร้ซึ่งตัวตนอันแท้จริง
     ตอนนี้   คุณนั่นแหละ   ต้องตัดสินใจว่า   อยากได้ความถูกใจแต่หลอกลวง   หรือว่าอยากได้ "ความจริงแท้"กันแน่

                                         ------------------------------------------------------
    
                   

วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2555

๑๑ แนวคิดที่ควรต้องทบทวนใหม่

     สังคมไทยในปัจจุบันเป็นสังคมสมัยใหม่   ผู้คนต่างเร่งรีบกันทำงานเพื่อความอยู่รอด   ต่างแก่งแย่งแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ   เวลาในชีวิตดูจะเหลือน้อยลง   จนบางครั้งเราได้มองบางสิ่งอย่างผิวเผิน   แล้วนำมายึดถือเป็นแก่นสารในชีวิตมากเกินไป   ในโอกาสนี้   จะขอหยิบยกแนวคิดต่างๆที่ถูกคนในสังคมบิดเบือนจนผิดรูปไปหมดแล้ว   มานำเสนอให้ท่านลองพิจารณาดูว่า   ท่านคิดแบบนี้อยู่ด้วยหรือไม่   ดังต่อไปนี้
     ๑. คนที่ขับรถยนต์ราคาแพงเป็นคนมีคุณค่า   คนเรามักประเมินคุณค่าของคนจากรถยนต์ที่เขาใช้ขับขี่   ซึ่งอธิบายได้จากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและลัทธิบริโภคนิยมที่ทำให้คนบูชาเงิน วัตถุ และทรัพย์สินเป็นพระเจ้า   และคิดว่าคุณค่าของคนอยู่ที่จำนวนเงิน หรือทรัพย์สินที่มี   ผนวกเข้ากับความคิดที่ว่า   คนที่มีเงินมากจึงจะสามารถซื้อรถยนต์ราคาแพงมาใช้ได้   ดังนั้น   จึงตีความกันได้ว่า   คนที่มีรถยนต์ราคาแพงใช้เป็นคนมีคุณค่า   ซึ่งความคิดแบบนี้เป็นการมองเพียงด้านเดียว   เพราะว่าคนที่ขับรถยนต์ราคาแพงนั้นเป็นไปได้หลายกรณี   ดังนี้
     ๑.๑. มีเงินมากจริง   และหาเงินมาด้วยวิธีการที่สุจริต   แต่น่าเสียดายที่ใช้เงินไม่เป็น   กล่าวคือ   เขาควรนำเงินไปซื้อสิ่งของจำเป็นอย่างอื่นที่มีประโยชน์ต่อชีวิตมากกว่านี้ได้อีกหลายอย่าง  แล้วซื้อรถยนต์ที่มีราคาถูกกว่านี้
     ๑.๒.มีเงินมากจริง   แต่หามาด้วยวิธีการที่ทุจริต   เช่น   คดโกง   ฉ้อราษฎร์บังหลวง   ลักขโมย   ปล้น   ขายสินค้าผิดกฎหมาย   หลีกเลี่ยงภาษี   เป็นต้น
     ๑.๓.ไม่ได้มีเงินมากจริง   และซื้อรถด้วยการชำระโดยใช้ระบบเงินผ่อน
     ๑.๔.ไม่ได้มีเงินมากจริง   และใช้รถยนต์มือสองซึ่งมีราคาถูกกว่ารถยนต์ใหม่
     ๑.๕.ขโมยรถยนต์มา
     เท่าที่นึกมาได้ ๕ ข้อ   ก็ยังหาไม่เจอว่า   มีกรณีใดบ้างที่เราควรจะสรรเสริญคนที่ใช้รถยนต์ราคาแพง
     ๒.คนที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าราคาแพง   คนที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ราคาแพงเป็นคนมีคุณค่า
กรณีเช่นนี้ก็ไม่จริงเสมอไป   แนวคิดก็จะคล้ายคลึงกับข้อ๑.   ที่ว่าเป็นการเชื่อมโยงจากวัตถุที่มีไปสู่จำนวนเงินที่หามาได้   ซึ่งถ้าหาเงินมาด้วยวิธีที่สุจริต   ก็นับว่าเป็นการบริหารค่าใช้จ่ายที่ไม่เหมาะสม   เพราะเสื้อผ้าที่มีคุณภาพนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นยี่ห้อที่หรูหรา หรือราคาแพงเสมอไป   ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ราคาแพงนั้นคงขึ้นอยู่กับเหตุผลในการใช้งานว่า   จำเป็นต้องใช้เพื่อธุระโทรออก หรือรับสายเท่านั้น   หรือจำเป็นต้องใช้งานที่มากกว่านั้น   เช่น   ถ่ายรูป   อินเตอร์เน็ต   ส่งอีเมล   บันทึกเสียง   ฟังเพลง   เป็นต้น
     ๓.คนที่พูดเก่ง หรือพูดดีเป็นคนที่มีคุณภาพ     เรามักพบแนวคิดแบบนี้ได้บ่อย   เห็นได้จากในวงการ"การเมือง"ที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมชมชอบนักการเมืองที่พูดเก่ง   โดยคิดเอาเองว่า   คนที่มีความคิดดีจะเป็นคนที่พูดเก่ง   ซึ่งไม่จริงเสมอไป   คนที่มีความคิดดีไม่จำเป็นต้องพูดเก่ง   ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆมากมาย   เช่น   นิสัยใจคอ   บุคลิกภาพ   ทัศนคติ   เป็นต้น
     คุณภาพของคนนั้น   วัดได้จากผลงานซึ่งเกิดจาก"การกระทำ" ซึ่งเป็นผลผลิตจาก"ความคิด" มากกว่า"น้ำลาย" ซึ่งเป็นเพียงเปลือกนอกอันเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพภายนอกเท่านั้น
     ๔.คนที่ไปเรียนที่สถาบันการศึกษาในต่างประเทศเป็นคนมีคุณภาพมากกว่าคนที่เรียนในประเทศไทย   แนวคิดนี้เป็นจริงแค่ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนน้อย   มีหลายคนอ้างเหตุผลว่า...
     ๔.๑.หลักสูตรของสถาบันการศึกษาในต่างประเทศได้มาตรฐานมากกว่าในประเทศไทย  
     ๔.๒.การศึกษาในต่างประเทศช่วยให้เก่งภาษาต่างประเทศมากกว่าในประเทศไทย
     ๔.๓.การศึกษาในต่างประเทศช่วยให้รู้จักรับผิดชอบในชีวิตของตัวเองมากกว่า
     จะเห็นว่า   การที่คุณจะได้มาซึ่ง ๓ ข้อนี้นั้น   คุณไม่จำเป็นต้องไปศึกษาที่ต่างประเทศ   และคนที่ไปต่างประเทศก็ไม่ได้ครบทั้ง ๓ ข้อนี้เสมอไป   เรื่องนี้มักขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของผู้เรียนมากกว่า   ที่สำคัญกว่านั้นคือ   ตอนนี้   คนไทยกำลังหลับหูหลับตาเรียนตามหลักวิชาการของต่างประเทศล้วนๆ   โดยไม่ทันคิดว่า   ประเทศไทยก็มีภูมิปัญญาตะวันออก   และภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งน่าจะเข้ากันได้กับประเทศไทยมากกว่าที่จะไปเลียนแบบชาติตะวันตกมาทั้งหมด
     ๕.คนที่เรียนหนังสือเก่งจะประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าคนที่เรียนไม่เก่ง   ในประเด็นนี้   ขึ้นอยู่กับว่า   จะให้คำนิยามของคำว่า"ความสำเร็จ"ว่าอย่างไร   ถ้าความสำเร็จหมายถึง   เงินและทรัพย์สินแล้ว   คนเรียนเก่งอาจได้ตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี   มีเงินเดือนสูง   ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จแบบหนึ่ง   แต่อย่าลืมว่า   มีคนที่เรียนไม่จบการศึกษาภาคบังคับ   แต่ได้ทำธุรกิจบางประเภทอย่างมุ่งมั่นจนธุรกิจเติบโตกลายเป็นธุรกิจร้อยล้านจนถึงพันล้านหมื่นล้าน   ซึ่งก็มีตัวอย่างให้เห็นมากมายแล้ว  
     นอกจากนั้นแล้ว   ถ้าเราให้คำนิยามความสำเร็จว่าหมายถึง   การมีชีวิตที่มีความสุขแล้ว    เราคงจะต้องเอ่ยถึงคำทั้ง ๓ คำนี้กันสักหน่อย   ดังนี้
     1. I.Q.(Intelligent Quotient)
     2. E.Q.(Emotional Quotient)
     3. M.Q.(Moral Quotient)
     ซึ่งทั้ง ๓ คำนี้เป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญมากในการประเมินว่า   คนแต่ละคนจะประสบความสำเร็จในชีวิตมากน้อยเพียงใด   โดยเฉพาะ E.Q.และ M.Q.นั้นดูจะมีอิทธิพลต่อความสำเร็จมากกว่า I.Q. ซึ่งจะเห็นได้จากตัวอย่างผู้ประสบความล้มเหลวในชีวิตหลายต่อหลายคนนั้นมีประวัติเคยเป็นคนเรียนเก่งมาก่อน
     ๖.ผู้ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเป็นคนที่มีคุณค่า   นั่นเป็นแนวคิดที่เกิดจากการมองสิ่งต่างๆแบบแยกส่วน   กระแสหลักที่เกิดขึ้นชัดเจนในขณะนี้คือ   การใช้คอมพิวเตอร์   รถยนต์   โทรศัพท์เคลื่อนที่(โดยเฉพาะแบบสมาร์ทโฟน)   ตลอดจนเครื่องมือทางการแพทย์อันทันสมัย   เช่น   CT SCAN,MRI เป็นต้น  ซึ่งเราไม่ควรไปภาคภูมิใจกับสิ่งเหล่านี้มากนัก   เพราะสิ่งที่เราใช้อยู่นั้น   ไม่ได้เกิดจากมันสมองของคนไทยเลย   เราเอาของเขามาใช้ทั้งนั้น   เราไม่คิดค้นเทคโนโลยี   แต่กลับสนุกสนานในการใช้เทคโนโลยีที่คนอื่นเขาคิดขึ้นมาอย่างไม่ได้ไตร่ตรอง หรือใช้วิจารณญาณอย่างเหมาะสม   มันไม่น่าภูมิใจหรอกครับ
     ๗.ยิ่งมีเงินหรือทรัพย์สินมาก   ก็ยิ่งมีความสุขมาก   คนส่วนใหญ่ต้องการมีเงินทองทรัพย์สินมากๆ   เพื่อจะได้ซื้อของทุกอย่างที่อยากได้   แต่ถ้าสังเกตุให้ดีแล้ว   จะเห็นว่าความต้องการของมนุษย์เราไม่มีที่สิ้นสุด   เพราะเมื่อเราได้ในสิ่งที่อยากได้สักอย่างหนึ่งแล้ว  เราก็จะมีสิ่งใหม่ที่อยากได้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ   ถึงจะรวยล้นฟ้า   แต่เงินก็ไม่สามารถซื้อทุกอย่างได้   โดยเฉพาะซื้อ"ใจคน"
     ดังนั้น   ถ้าเราไม่ลดความอยากลงบ้าง   รับรองว่าไม่มีวันพบกับ"ความสุขที่แท้จริง"ได้   อย่าคิดว่าคนจนจะทุกข์ทรมานมากกว่าคนรวยเสมอไป   เพราะคนรวยมักจะชอบสนองความอยากของตนจนเคยตัว   ทำให้ขาดภูมิคุ้มกันทางจิตใจ   โดยเฉพาะเมื่อพบว่า   เงินไม่สามารถซื้อทุกสิ่งทุกอย่างได้   ก็จะเกิดภาวะสะเทือนใจอย่างรุนแรง   จนทำให้ตัดสินใจทำสิ่งร้ายแรงบางอย่างได้   เช่น   ฆ่าตัวตาย   ฆ่าคนตาย   เป็นต้น
     ๘.คนที่มีทัศนคติและการกระทำสอดคล้องกับคนส่วนใหญ่ในสังคม   ถือว่าเป็นผู้มีคุณค่า   เนื่องจากประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย   แนวคิดนี้จึงค่อนข้างมีอิทธิพลสูง   และเมื่อมองลงไปในเบื้องลึกของจิตใจมนุษย์แล้ว   มนุษย์เป็นสัตว์สังคม   และมีความกลัวต่อการอยู่โดดเดี่ยว   ดังนั้น   มนุษย์จึงต้องไขว่ขว้าหาสิ่งยึดเหนี่ยวให้ตัวเองด้วยการพยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคนกลุ่มใหญ่   ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคงในจิตใจ   รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และเป็นที่ยอมรับของคนกลุ่มใหญ่
     ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากมากที่จะได้พบคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ   การพัฒนาจึงเป็นไปอย่างเชื่องช้า และเต็มไปด้วยการเอาของคนอื่นมาใช้เสียเป็นส่วนใหญ่
     ๙.สิ่งที่เรามองเห็น คือ สิ่งที่เป็นเช่นนั้นจริงๆ   แนวคิดแบบนี้ไม่เป็นจริงเสมอไป   แต่คนส่วนใหญ่มักจะเชื่อสายตาตัวเองเสียเหลือเกิน   จะขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่สนับสนุนว่า   เราไม่ควรเชื่อสายตาตัวเองเสมอไป   คือ   "แบบจำลองอะตอมกลุ่มหมอก" ซึ่งเป็นตัวอย่างสนับสนุนที่ดีว่า   สิ่งของที่เราเห็นว่ามันวางอยู่นิ่งๆของมันอย่างนั้น   และคงรูปร่างอยู่ได้อย่างนั้น   แท้จริงแล้ว   กลับไร้ซึ่งความเสถียรโดยสิ้นเชิง   ไม่ว่าจะเป็นท่อนไม้ที่ตกอยู่ตามข้างถนน   หรือรถยนต์ราคา ๒๐ กว่าล้านบาทก็ตาม   ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่จิรังยั่งยืน   และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาด้วยซ้ำ   เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับกฎแห่งไตรลักษณ์(อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)ได้เป็นอย่างดี   และจากประวัติศาสตร์ของโครงสร้างอะตอมในอดีตจนถึงปัจจุบัน   สสารประกอบด้วยอะตอม   โดยในอะตอมมีนิวเคลียสซึ่งมีอิเลคตรอนวิ่งวนอยู่รอบๆ   เหตุการณ์นี้แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งของอิเลคตรอนในทุกขณะเวลา   และในยุคต่อมา   แบบจำลองอะตอมกลุ่มหมอกยิ่งตอกย้ำความไม่แน่นอน(เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา)มากยิ่งขึ้นไปอีกด้วยการกล่าวถึงความน่าจะเป็นของตำแหน่งของอนุภาคในตำแหน่งต่างๆภายในอะตอม   โดยที่อะตอมเป็นองค์ประกอบย่อยของทุกสิ่งในโลก   ซึ่งทำให้กล่าวได้ว่า   สรรพสิ่งในโลกล้วนเปลี่ยนแปลง   แต่ทว่ามนุษย์กลับไปสนใจแต่เฉพาะการเปลี่ยนแปลงหยาบๆ   เช่น   เมื่อพบว่ารถยนต์ของตัวเองถูกชนบุบเล็กน้อย   ก็มัวแต่มานั่งเสียอกเสียใจอยู่หลายวัน   โดยหารู้ไม่ว่า   จริงๆแล้ว   รถคันนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกเสี้ยววินาที   อย่างนี้เป็นต้น
     ๑๐.ทุกสิ่งทุกอย่างมีความแตกต่างกัน   ไม่เกี่ยวข้องกัน   และไม่มีผลกระทบต่อกัน   แนวคิดนี้ไม่จริงเสมอไป   ด้วยเหตุผลสนับสนุน ๒ ประการ ดังนี้
     ๑.จากทฤษฎีที่กล่าวว่า   จักรวาลเกิดจากการระเบิดครั้งใหญ่ของจุดเล็กๆซึ่งมีความหนาแน่นสูงมากๆหรือที่เรียกว่า "บิกแบง"   จากเหตุการณ์นี้   เราสามารถกล่าวได้ว่า   ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในจักรวาล   ล้วนกำเนิดจากวัตถุธาตุชนิดเดียวกันที่อยู่ในจุดเล็กๆดังกล่าวก่อนที่จะเกิด"บิกแบง"   จึงอนุมานต่อไปได้ว่า   ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมนุษย์นั้น   ล้วนเคยอยู่ในจุดเล็กๆดังกล่าวแล้วทั้งสิ้น   ดังนั้น   จึงกล่าวได้ว่า   ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมนุษย์และจักรวาลล้วนเป็นวัตถุธาตุชนิดเดียวกันทั้งสิ้น
     ๒.อะตอมประกอบด้วยอนุภาคโปรตอน   นิวตรอน   อิเลคตรอน   และอนุภาคอื่นๆที่เพิ่งถูกค้นพบในภายหลัง   ซึ่งทุกสิ่งในจักรวาลล้วนประกอบด้วยอนุภาคย่อยคือ อะตอม เหมือนกัน
     ๑๑.มีคนจำนวนมากที่ทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเท่านั้น   คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า   มีคนเป็นจำนวนมากในโลกที่มีจิตใจงดงาม   และตั้งมั่นในการเสียสละเพื่อส่วนรวมเป็นหลัก   แต่ในความเป็นจริงนั้น   มนุษย์มีความปรารถนาอยู่ลึกๆในจิตใจในการที่จะทำให้ตนเองเป็นผู้ที่มีคุณค่าเหนือผู้อื่น   ซึ่งการแสดงออกเพื่อตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าวนั้น   เป็นไปได้ ๒ รูปแบบ คือ
     ๑.ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างโจ่งแจ้ง   ซึ่งถือว่าเป็น"คนเห็นแก่ตัว"
     ๒.ทำทุกสิ่งทุกอย่าง(หรือบางสิ่งบางอย่าง)   เพื่อแสดงให้เห็นว่า   ตนเป็นผู้เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม(โดยที่ไม่ได้สนใจในผลประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง)   บุคคลเหล่านี้ต้องการได้รับความนิยมชมชอบจากคนในสังคม   เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่า   ตนเองมีคุณค่ามากขึ้น   ซึ่งเมื่อเราพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว   ความคิดแบบนี้ถือว่าเป็นผลประโยชน์ส่วนตนแบบหนึ่ง

     จากเนื้อหาทั้ง ๑๑ ข้อที่ผ่านตาท่านไปแล้วนั้น   อาจพอจะไปกระตุ้นเตือนใครบางคนทีเผลอใจ   หลงใหลไปกับความคิดโดยไม่ทันได้สังเกตจิตใจตัวเองให้ละเอียดถี่ถ้วน   ขอเพียงแค่ตั้งใจมองให้ลึกซึ้งกว่าที่เคย   ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้วครับ