วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

แบบทดสอบสำหรับว่าที่คุณหมอ(ฉบับรูปธรรม)

     ผมได้เคยพูดคุยกับเพื่อนๆที่เป็นหมอ และเคยเรียนชั้นมัธยมศึกษาด้วยกันหลายครั้ง   แทบจะทุกครั้งมักจะมีหัวข้อที่หยิบยกขึ้นมาคุยกันบ่อยที่สุด คือ "กว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว"   ซึ่งหมายถึงในกรณีที่หมอหลายคนเพิ่งมาได้ตระหนักรู้ทีหลังว่า   จริงๆแล้ว   พวกเขาไม่ได้ชอบวิชาชีพแพทย์ที่ทำอยู่   แต่ที่ได้มาเรียนแพทย์เพราะเหตุผลบางประการ   เช่น   มีเกียรติ   มั่นคง   รวย(?)   พ่อแม่อยากให้เป็นหมอ   เป็นต้น   แต่พวกเขาไม่ได้เข้าใจว่า   ไม่ใช่แค่เรียนดีแล้วจะเป็นหมอที่ดีได้   "ว่าที่คุณหมอ"ต้องมีคุณสมบัติอย่างอื่นอีกมากมาย   เช่น   ความซื่อสัตย์   ความอดทน   ความเมตตากรุณา   เป็นต้น
     เพื่อเป็นการลดปริมาณพวก "กว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว"   ผมจึงขอเสนอแบบทดสอบเพื่อประเมินความพร้อมของน้องๆที่มีความตั้งใจจะประกอบอาชีพแพทย์ต่อไปในอนาคต   ก่อนการประเมิน   ผมขออนุญาตกำหนดนิยามดังนี้
     ๑. งานA   คือ   แบบทดสอบการบวก ลบ คูณ หารเลขโดยมีข้อกำหนดดังนี้
     ๑.๑. ถ้าเป็นการบวกลบเลข   ต้องให้ตัวเลขทั้ง ๒ จำนวนมีอย่างน้อย ๔ หลักขึ้นไป   เช่น   7,659+8,644=?
     ๑.๒. ถ้าเป็นการคูณหารเลข   ต้องให้ตัวตั้งมีอย่างน้อย ๔ หลักขึ้นไป   และตัวคูณหรือตัวหารมีอย่างน้อย ๒ หลักขึ้นไป   เช่น   695,725x674=?
     ๑.๓. ตัวเลขทั้ง ๒ จำนวนในโจทย์จะต้องไม่เกิน ๗ หลัก
     ๑.๔. ห้ามใช้เครื่องคิดเลข หรือลูกคิด   ห้ามใช้สารกระตุ้น เช่น กาแฟ เป็นต้น

     ๒. คำว่า "ผ่านการทดสอบ" หรือ "ไม่ผ่านการทดสอบ" นั้น   ให้ขึ้นอยู่กับ "ความรู้สึกของผู้รับการทดสอบ"   กล่าวคือ
     ๒.๑. "ผ่านการทดสอบ" หมายถึง   ผู้รับการทดสอบยืนยันว่า   สามารถทำกิจกรรมในแบบทดสอบข้อนั้นๆไปตลอดชีวิตได้อย่างมีความสุข
     ๒.๒. "ไม่ผ่านการทดสอบ" หมายถึง   ผู้รับการทดสอบไม่สามารถทำกิจกรรมในแบบทดสอบข้อนั้นๆไปตลอดชีวิตได้อย่างมีความสุข
     ๒.๓. ถ้าแบบทดสอบกำหนดให้ทำงานAด้วยแล้ว   การผ่านหรือไม่ผ่านการทดสอบจะขึ้นอยู่กับผลของงานAด้วย
     ๒.๔. การผ่าน หรือไม่ผ่านในบางแบบทดสอบจะขึ้นกับเงื่อนไขพิเศษที่กำหนดขึ้นมาเพิ่มเติมเฉพาะในแบบทดสอบข้อนั้นๆ
    
     ๓.ผู้รับการทดสอบต้องผ่านการทดสอบอย่างน้อย ๑๐ จาก ๑๑ แบบทดสอบ   จึงจะสามารถประกอบอาชีพแพทย์ได้อย่างมีความสุขอย่างแท้จริง

     ณ บัดนี้   ขอเชิญท่านผู้สนใจเริ่มทำแบบทดสอบได้เลยครับ...

     ๑.แบบทดสอบที่๑   ไม่นอนหลับติดต่อกัน ๓๖ ชั่วโมง   โดยห้ามใช้สารกระตุ้น(เช่น กาแฟ)   ห้ามฟังเพลง   ดูโทรทัศน์   เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์   หรือเข้าอินเตอร์เน็ต
     เปรียบเทียบกับสถานการณ์จริง   คุณหมอต้องอยู่เวรติดต่อกัน ๒ คืน กับอีก ๑ วัน   ตอนกลางวัน   คุณหมอตรวจผู้ป่วยนอกคนเดียวทั้งวันที่โรงพยาบาล   เวลากลางคืนต้องถูกตามตัวมาดูผู้ป่วยตลอดทั้งคืน   และอาจไม่ได้นอนเลย   พอรุ่งเช้า   คุณหมอก็ต้องมาตรวจผู้ป่วยนอกทั้งวันอีก
    
     ๒.แบบทดสอบที่๒   ให้ผู้รับการทดสอบเข้านอนในเวลา ๒๔.๐๐น.   จากนั้นให้เจ้าหน้าที่ผู้คุมสอบปลุกให้ตื่นทุก ๑ ชั่วโมงทางโทรศัพท์   จนถึงเวลา ๖.๐๐น.   หลังจากนั้นให้ผู้รับการทดสอบทำงานA ทั้งหมด ๒๔๐ ข้อ(ห้ามใช้เครื่องคิดเลข หรือลูกคิด   ห้ามใช้สารกระตุ้น)   ตั้งแต่เวลา ๘.๐๐น.ถึง ๑๒.๐๐น.(เฉลี่ยใช้เวลาข้อละ ๑ นาที)   ผู้รับการทดสอบต้องได้คะแนนอย่างน้อย๙๐เปอร์เซ็นต์จึงจะถือว่าผ่านแบบทดสอบนี้
     เปรียบเทียบกับสถานการณ์จริง   คุณหมอต้องอยู่เวรกลางคืน  และถูกตามตัวไปดูผู้ป่วยทุกๆ ๑ ชั่วโมง(ยังมีโอกาสได้งีบบ้างเล็กน้อย)   แล้วต้องมาทำงานต่อในช่วงกลางวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

     ๓.แบบทดสอบที่๓   กำหนดให้ผู้รับการทดสอบรับประทานอาหารวันละ ๒ มื้อ   มื้อแรกในเวลา ๖.๐๐น.   และมื้อที่๒ในเวลา ๒๔.๐๐น.   และทำงานAทั้งหมด ๓ ครั้ง   คือในเวลา ๙.๐๐น.   ๑๓.๐๐น.   และ๒๑.๐๐น.   โดยทำครั้งละ ๑๒๐ ข้อให้เสร็จภายในเวลา ๒ ชั่วโมง  ทำเช่นนี้ติดต่อกัน๗วัน  ผู้รับการทดสอบจะต้องได้คะแนนอย่างน้อย ๙๐ เปอร์เซ็นต์   จึงจะถือว่า ผ่านแบบทดสอบนี้
     เปรียบเทียบกับสถานการณ์จริง   คุณหมอมีงานยุ่งตั้งแต่เช้า   ทั้งงานตรวจผู้ป่วยนอก   ผู้ป่วยฉุกเฉิน   ห้องผ่าตัด   ผู้ป่วยในตึกผู้ป่วยใน   จนไม่มีเวลารับประทานอาหาร

     ๔. แบบทดสอบที่๔   ให้ผู้รับการทดสอบรับประทานอาหารไป ๑ใน๔ของจาน   แล้วหยุดรับประทานนาน ๓๐ นาที   จากนั้น   ให้กลับมารับประทานต่ออีก ๑ใน๔ของจาน   แล้วหยุดรับประทานนาน ๓๐ นาที   ...ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนอาหารหมดจาน   และให้ทำแบบนี้ทั้ง ๓ มื้อต่อวัน   โดยทำติดต่อกัน ๗ วัน(ห้ามอุ่นอาหารก่อนรับประทานในแต่ละครั้ง)
     เปรียบเทียบกับสถานการณ์จริง   คุณหมอถูกตามตัวไปดูผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งๆที่ยังรับประทานอาหารไม่เสร็จติดต่อกันหลายๆครั้ง

     ๕. แบบทดสอบที่๕   ให้ผู้รับการทดสอบรับประทานอาหารชนิดเดียวกัน(เช่น ข้าวไข่เจียว เป็นต้น)ทั้ง ๓ มื้อ   ติดต่อกันเป็นเวลา ๗ วัน(อาหารที่รับประทานจะต้องไม่ใช่อาหารที่เป็น"ของโปรด"สำหรับผู้รับการทดสอบอยู่แล้ว๋)
     เปรียบเทียบกับสถานการณ์จริง   เมื่อคุณหมอไปปฏิบัติงาน และใช้ชีวิตอยู่ที่โรงพยาบาลชุมชนในเขตพื้นที่ทุรกันดาร   คุณหมอไม่มีโอกาสเลือกรับประทานอาหารได้ตามที่ตนเองอยากรับประทาน

     ๖. แบบทดสอบที่๖   จำกัดบริเวณผู้รับการทดสอบให้อยู่ในพื้นที่ ๑๐๐ ตารางวา   พร้อมบ้าน ๑ หลังให้อาศัยอยู่เพียงคนเดียวเป็นระยะเวลา ๑ เดือน(ห้ามโทรศัพท์   ห้ามใช้อินเตอร์เน็ต   ห้ามรับส่งอีเมล หรือแฟกซ์   อนุญาตให้ดูโทรทัศน์   ฟังวิทยุ   อ่านหนังสือ   และเขียนจดหมายได้)
     เปรียบเทียบกับสถานการณ์จริง   เมื่อคุณหมอไปปฏิบัติงาน และใช้ชีวิตอยู่ที่โรงพยาบาลชุมชนในเขตพื้นที่ทุรกันดาร   ก็จะไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารกับญาติ คนรัก และเพื่อนๆที่อยู่ห่างไกล

     ๗.แบบทดสอบที่๗   กำหนดให้ผู้รับการทดสอบยืนสงบนิ่งตรงบริเวณที่กรรมการผู้ควบคุมการทดสอบกำหนดให้   หลังจากนั้นผู้ควบคุมการทดสอบจะพา"แม่ค้าปากตลาด" จำนวน ๓ คนมายืนด่าว่าผู้รับการทดสอบด้วยถ้อยคำที่หยาบคายเป็นเวลาทั้งหมด ๙๐ นาที(ด่ากันคนละ ๓๐ นาที)   ทำเช่นนี้ติดต่อกัน ๗ วัน   ระหว่างที่ทำการทดสอบนั้น   ผู้รับการทดสอบต้อง"ทำหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส"โดยตลอด   ห้ามพูด   ห้ามเถียง   ห้ามเดินหนีออกไปจากบริเวณที่กรรมการกำหนด
     เปรียบเทียบกับสถานการณจริง   คุณหมออาจจะต้องเจอกับผู้ป่วย หรือญาติของผู้ป่วยบางคนที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ในสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความตึงเครียด หรือจนถึงขั้นโมโหโทโสได้ง่าย และรุนแรง   เช่น ในวันที่มีผู้ป่วยนอกมาใช้บริการมากมายจนล้นหลาม   เป็นต้น

     แบบทดสอบที่๘   ให้ผู้รับการทดสอบเข้าไปอาบน้ำ และสระผมในห้องอาบน้ำที่กรรมควบคุมการทดสอบกำหนดให้    จากนั้น   ผู้รับการทดสอบจะได้ยิงเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นที่ห้องที่อยู่ใกล้ๆห้องอาบน้ำ   และ ณ วินาทีนั้น   กรรมการจะเริ่มจับเวลา   ให้ผู้รับการทดสอบรีบรับโทรศัพท์   เช็ดตัวให้แห้ง   แต่งตัวให้เรียบร้อย   แล้ววิ่งไปยังจุด"ฉ"(ย่อมาจาก"ฉุกเฉิน")ซึ่งอยู่ห่างจากห้องอาบน้ำเป็นระยะทาง ๕๐๐ เมตร   ถ้าผู้รับการทดสอบสามารถวิ่งไปที่จุด"ฉ"ได้ทันภายในเวลา ๓ นาที(ในสภาพที่แต่งตัวเรียบร้อยด้วยนะ)   ถือว่า"ผ่านการทดสอบนี้"
     เปรียบเทียบกับสถานการณ์จริง   คุณหมออยู่เวรนอกเวลาราชการ   และกำลังอาบน้ำอยู่ในบ้านพักแพทย์ หรือห้องพักแพทย์เวร   ทันใดนั้น  ก็มีโทรศัพท์จากตึกผู้ป่วยใน หรือห้องฉุกเฉินตามให้คุณหมอไปดูผู้ป่วยฉุกเฉินที่อาการหนักมากๆๆๆๆๆๆ(แย่ที่สุดคือหยุดหายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น)    ซึ่งคุณหมอต้องรีบไปรักษาผู้ป่วยรายนั้นโดยเร็วที่สุด

     แบบทดสอบที   ให้ผู้รับการทดสอบนั่งรับประทานอาหารในห้องอาหารที่กรรมการผู้ควบคุมการทดสอบกำหนดไว้  โดยนั่งใกล้ศพสุนัขที่กำลังเน่าเหม็นทั้ง ๓มื้อ เป็นเวลา ๗ วันติดต่อกัน
     เปรียบเทียบกับสถานการณ์จริง  แพทย์เป็นอาชีพที่ต้องอยู่ใกล้ๆและได้สัมผัสกับสิ่งที่ไม่น่าภิรมย์ เช่น  สิ่งปฏิกูลส่งกลิ่นเหม็น  ไม่ว่าจะเป็นอุจจาระ  ปัสสาวะ  เลือด  เสมหะ  หนอง  รวมถึงซากศพมนุษย์ที่ส่งกลิ่นเหม็นเน่าซึ่งคุณหมอจะต้องชัณสูตรเพื่อหาสาเหตุการตาย  คุณหมอคงต้องใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งเหล่านี้ให้ได้

     แบบทดสอบที่๑๐   ให้ผู้รับการทดสอบยืนติดต่อกันนาน ๔ ชั่วโมง  ทั้งหมด ๓ ครั้ง/วัน คือ ในช่วงเวลา ๘.๐๐น.ถึง๑๒.๐๐น.   ๑๓.๐๐น.ถึง๑๗.๐๐น.  และ ๒๒.๐๐น.ถึง๒.๐๐น. ทำเช่นนี้ติดต่อกัน๗วัน   ห้ามเดิน  อนุญาตให้เข้าห้องน้ำได้ช่วงเวลาละ ๑ ครั้งเท่านั้น
     เปรียบเทียบกับสถานการณ์จริง   คุณหมอต้องยืนผ่าตัดผู้ป่วยติดต่อกันหลายชั่วโมงต่อวัน  ทั้งในช่วงกลางวัน และกลางคืน

     แบบทดสอบที่๑๑   ให้ผู้รับการทดสอบนำรายได้ของตนเองที่ได้รับในเดือนนั้นมาบริจาคให้วัด โรงเรียน หรือองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหาผลกำไร  ในสัดส่วน ๙๐เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดในเดือนนั้น  รายได้ที่เหลือ ๑๐เปอร์เซ็น ให้นำไปใช้จ่ายส่วนตัวได้ให้เพียงพอในเดือนนั้น
     เปรียบเทียบกันสถานการณ์จริง   ถ้าคุณหมอได้รักษาผู้ป่วยผิดพลาดจนถึงกับทำให้ผู้ป่วยพิการ หรือเสียชีวิตแล้ว  คุณหมอมีโอกาสโดนผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยดำเนินการฟ้องร้องทางกฎหมายเพื่อเรียงร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินมหาศาลได้ และ ถ้าเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นมาแล้วละก็...  คุณหมอก็อาจหมดเนื้อหมดตัวได้เหมือนกัน

     หลังจากผู้รับการทดสอบได้ทำแบบทดสอบจนครบทั้ง ๑๑ แบบทดสอบแล้ว   ให้กลับไปอ่านกฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยการ"ผ่านการทดสอบ"และ"ไม่ผ่านการทดสอบ"อีกครั้ง แล้วตัดสินใจอย่างรอบคอบอีกครั้งนะครับ  ว่าจริงๆแล้ว  ท่านอยากจะประกอบอาชีพเป็นแพทย์หรือไม่?