วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ข้อสันนิษฐานว่าด้วยความสนใจกีฬาของคนไทย

     "กีฬาเป็นยาวิเศษ"   หลายๆคนคงคุ้นเคยกับประโยคนี้เป็นอย่างดี   นับตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว   ที่มนุษย์ได้ออกกำลังกายอย่างไม่ได้ตั้งใจ   ได้แก่   การล่าสัตว์   การหลบหนีภัยอันตรายตามธรรมชาติ   การก่อสร้างที่อยู่อาศัย   เป็นต้น   ซึ่งทำให้มนุษย์ในสมัยโบราณมีร่างกายที่สมส่วน   และแข็งแรง   อีกทั้งไม่มีโรคภัยไข้เจ็บในแบบที่คนสมัยนี้มักเป็นกัน(แต่เราคงไม่เน้นถึงเรื่องวิทยาการทางการแพทย์ในการรักษาโรคติดเชื้อ และโรคอื่นๆที่คนสมัยโบราณไม่สามารถรักษาให้หายได้   และโรคเหล่านั้นก็ได้ทำให้คนในสมัยโบราณเจ็บป่วยล้มตายไปเป็นจำนวนมากมายมหาศาล   ซึ่งในประเด็นนี้   คนสมัยนี้ย่อมได้เปรียบอยู่แล้ว
     ตำราทางวิชาการ และวารสารทางการแพทย์ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผลการวิจัยในแง่คุณประโยชน์ของการออกกำลังกายไว้มากมาย   โดยการออกกำลังกายมีประโยชน์ทั้งในด้านร่างกาย   จิตใจ   และสังคม   ซึ่งคนทั่วไปก็ได้รับรู้ถึงประโยชน์เหล่านี้เป็นอย่างดี   ได้มีการตื่นตัว และให้ความสนใจกีฬากันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด   สังเกตได้ตามสนามกีฬา และสวนสาธารณะที่มีผู้คนมาออกกำลังกายกันเป็นจำนวนมาก   แต่ถ้ามองกันลึกๆแล้ว   จะทำให้ได้ข้อสันนิษฐานว่า   เป็นไปได้ที่ว่าคนไทยไม่ได้ชอบกีฬาเพราะเห็นประโยชน์ของกีฬา   หรือหลงใหลในกีฬาประเภทนั้นอย่างแท้จริง   มาลองดูกันดีกว่าว่า   ทำไมคนไทยถึงสนใจกีฬากันมากขึ้น...
     ๑.สนใจในประเภทกีฬาที่มีคนไทย   รวมทั้งลูกครึ่งไทยซึ่งมีฝีมือ และชื่อเสียงอยู่ในระดับโลก   กีฬาเหล่านั้นได้แก่   มวยสากล   สนุกเกอร์   เทนนิส   กอล์ฟ    เทควันโด   เป็นต้น   คุณคงรู้จักไทเกอร์ วูด   เขาทราย กาแล็กซี่   รัชพล ภู่โอบอ้อม(ต๋อง ศิษย์ฉ่อย)   ภราดร ศรีชาพันธุ์   แทมมารีน ธนสุกาญจน์   ดนัย อุดมโชค และอีกหลายๆคนเป็นอย่างดี   ที่มาที่ไปของเรื่องนี้ก็คือ   ความรู้สึกลึกๆในจิตใจของคนไทยว่า   ตัวเองไม่เก่ง   ตัวเองไม่มีคุณค่า   ตัวเองอ่อนด้อยกว่าคนชาติอื่นๆ   ก็เลยต้องพยายามไขว่คว้าหาหลักยึดเหนี่ยว   อันแสดงให้เห็นว่า   ตัวเรานั้นก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร   ซึ่งที่แท้ก็มัวแต่สนใจตัวเอง   ไม่ได้สนใจกีฬาเท่าไหร่หรอก
     ๒. ชอบที่ตัวนักกีฬา   แต่ไม่ได้ชอบกีฬาประเภทนั้นจริงๆ   เห็นได้ชัดจากกีฬาเทนนิส กับฟุตบอล   ซึ่งมีนักกีฬาที่หล่อ และสวยอยู่หลายคน   เช่น กลุ่มนักเทนนิสสาวสวยนับตั้งแต่รุ่นของแอนนา คูร์นิโคว่า   จนมาถึงนักเทนนิสสาวชาวเซอร์เบีย และรัสเซียอีกหลายคน   ส่วนนักฟุตบอลที่โดดเด่นมากที่สุดในตอนนี้ก็เห็นจะเป็นนายโรนัลโดแห่งทีมชาติโปรตุเกสที่ยังมาช่วยโฆษณาขายรถกระบะในประเทศไทยอีกเสียด้วยสิ
     ๓. เล่นกีฬาเอาไว้เสริมภาพพจน์ของตัวเองให้ดูดีมีระดับ   ...ประมาณว่ามีรสนิยมวิไล   ซึ่งมักจะเป็นกีฬาที่มีค่าใช้จ่ายสูง และเหมาะสำหรับคนรวยเล่น   ส่วนพวกเบี้ยน้อยหอยน้อยก็คงต้องชิดซ้ายตกข้างทางไปตามระเบียบ   ใครคิดจะเล่นกีฬาเหล่านี้คงต้องกระเป๋าหนักกันพอสมควร   ตัวอย่างเช่น   กอล์ฟ   ขี่ม้า   ดำน้ำ   เจทสกี   แข่งรถ   เป็นต้น
     ๔. สนใจ และเล่นกีฬาเอาไว้ประจบเจ้านาย    เพื่อความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตัวเอง   ที่เห็นได้บ่อยๆ คือ กอล์ฟ นั่นเอง   เพราะท่านเจ้านายส่วนใหญ่เป็นคนขี้เกียจออกแรง   แม้กระทั่งการเล่นกีฬาก็ยังไม่อยากใช้แรงมากๆ   รวมทั้งอาจมีปัจจัยในด้านความชราภาพ และน้ำหนักตัวที่เกินพิกัดเข้ามาเกี่ยวข้อง   ทำให้ต้องหากีฬาที่ไม่หนักหนาสาหัสจนเกินไป   คุณคงจะเคยได้ยินเพือนๆของคุณหลายคนที่ต้องใช้ช่วงเวลาในวันหยุดสุดสัปดาห์ไปตีกอล์ฟกับเจ้านาย   แต่กลับไม่สนใจลูกเมียที่บ้าน   ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมสมัยนี้ไปเสียแล้ว
     ๕. สนใจและเล่นกีฬาประเภทนั้นๆเพราะชื่นชมคลั่งไคล้ในวีรบุรษของตัวเอง   ซึ่งเราได้เห็นตัวอย่างมามากมาย   ไม่เว้นแม้กระทั่งคนใกล้ตัว   อย่างน้อยคงเคยได้ยินเด็กๆบางคนบอกถึงความใฝ่ฝันว่า   เขาอยากเล่นบาสเกตบอลได้เก่งเหมือนไมเคิล จอร์แดน
     ๖. สนใจและเล่นกีฬาเนื่องจากถูกพ่อแม่ หรือญาติพี่น้องกระตุ้นให้สนใจ   ในกลุ่มนี้มักจะมีพ่อแม่ที่สนใจเล่นกีฬาประเภทนั้นๆอยู่แล้ว   ส่วนหนึ่งของพ่อแม่เหล่านี้ต้องการให้ลูกเล่นกีฬาประเภทนี้ให้เก่งหรือได้แชมป์เหมือนกับที่ตัวเองทำได้   หรือเพื่อชดเชยกับความรู้สึกด้อยที่ตนเองไม่ประสบความสำเร็จในกีฬาประเภทนั้น   รวมทั้งอีกส่วนหนึ่งคือ   กลุ่มพ่อแม่ที่ชอบเล่นกีฬาด้วยความบริสุทธิ์ใจ   เล่นเพื่อความสนุกสนาน และเพื่อสุขภาพ   ไม่ได้คิดจะแข่งขัน   ถ้าคุณได้ลองเดินเข้าไปในสนามเทนนิสบางแห่งแล้ว   จะได้เห็นพ่อแม่บางคนที่กำลังสอนลูกตัวน้อยๆให้เล่นเทนนิสทั้งๆที่หนูน้อยคนนั้นยังไม่ค่อยจะมีแรงยกแร็กเกตขึ้นมาถือได้อย่างมั่นคงนัก  ...ทรมานเด็ก
     ๗. สนใจกีฬาตามละครโทรทัศน์ หรือภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับกีฬา   ผมยังพอจำได้ว่า   เมื่อนานมาแล้ว   ตอนที่เมืองไทยมีละครโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับกีฬาแบดมินตัน   ปรากฏว่า   มีคนหันมาเล่นแบดมินตันกันเยอะมาก   แถมยังเลือกใช้แร็กเกตยี่ห้อเดียวกับที่นักแสดงใช้ในเรื่องเสียด้วย   จนกระทั่งละครเรื่องนี้อวสานไป   คนจึงค่อยๆเลิกสนใจกีฬาแบดมินตันไป   ทั้งนี้คงต้องกล่าวรวมถึงละครโทรทัศน์ของญี่ปุ่นอีกหลายเรื่องที่มีอิทธิพลต่อการเล่นกีฬาของคนไทยในช่วงที่ละครเรื่องนั้นกำลังออกอากาศ   เช่น   ยอดหญิงสิงห์เทนนิส   เงือกสาวเจ้าสระ   เป็นต้น
     ๘. ฐานะทางการเงิน และวิถึชีวิตบังคับให้ต้องเล่นกีฬาบางประเภท   สมมุติว่า   คุณต้องไปทำงานในชนบทที่ห่างไกลทุรกันดาร   ซึ่งไม่ค่อยมีสนามกีฬา และอุปกรณ์กีฬาให้เล่น   คุณคงต้องวิ่งออกกำลังกาย   วิดพื้น   หรือบริหารร่างกายไปตามมีตามเกิด   เพราะมีปัญญาทำได้แค่นั้นจริงๆ  และถ้าทั้งเนื้อทั้งตัวของคุณมีเงินแค่ ๒๐๐-๓๐๐ บาท  ก็คงพอจะซื้อรองเท้ากีฬาได้สัก ๑ คู่  อย่างไรก็ตาม   ถ้าจะให้ดีแล้ว   ก็ควรเจียดสตางค์ไปซื้อเชือกสำหรับเอามากระโดดเชือกด้วยก็จะดีไม่น้อย
     ๙. ชอบเล่นกีฬาตามเพื่อน   โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ   ขาดความเป็นตัวของตัวเอง   และขาดความตระหนักในคุณค่าของตัวเอง(self-esteem)   จึงต้องคอยหาสิ่งที่มาเสริมคุณค่าให้ตัวเอง   นั่นก็คือ  การได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูง   ในคนเหล่านี้   ถ้าเพื่อนพากันไปเล่นฟุตบอล   ตัวเองก็จะไปเล่นฟุตบอลด้วย   พอเพื่อนเปลี่ยนไปเล่นแบดมินตัน   ตัวเองก็จะหันไปเล่นแบดมินตันด้วย   แล้วพอเพื่อนหันไปเล่นวอลเลย์บอล   ตัวเองก็ตามไปเล่นด้วย   ...เป็นอย่างนี้ไม่รู้จักจบสิ้น   ซึ่งเราก็ได้แต่คาดหวังว่า   เมื่อเขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว   คงจะเริ่มคิดได้   และได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆเสียที
     ๑๐. เล่นกีฬาเพื่อต้องการนำไปใช้ประโยชน์   โดยเฉพาะเพื่อช่วยให้ตนเองรอดพ้นจากภยันตรายต่างๆ   ซึ่งคุณจะพบเห็นตัวอย่างได้มากมาย เช่น 
     ก. ผู้หญิงเล่นเทควันโด   คาราเต้   ยูโด   เพื่อป้องกันตัวเองจากชายโฉดทั้งหลาย
     ข. หลายๆคนฝึกว่ายน้ำเพื่อช่วยเหลือตัวเองเวลาตกน้ำ หรือเรือล่ม
     ค. หลายๆคนฝึกยิงปืนเพื่อใช้ป้องกันตัว
     ง. เมื่อผู้ที่เคยฝึกยิมนาสติกได้รับอุบัติเหตุ   จะมีการจัดท่าทางของร่างกายเพื่อให้เกิดการบาดเจ็บน้อยที่สุด
     ๑๑. ชอบกีฬาเพราะหลงใหลในเสน่ห์ของกีฬาประเภทนั้นๆอย่างแท้จริง   ซึ่งเทียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ใจ   ไม่มีเหตุผลอื่นใดแอบแฝง   น่าชื่นชมจริงๆ

      เมื่อท่านได้อ่านมาจนครบ ๑๑ ข้อแล้ว   ลองถามใจตัวเองดูนะครับว่า   ที่ท่านกำลังคลั่งไคล้กีฬากันอยู่นี้   มีเหตุผลอะไรแอบแฝงอยู่หรือไม่?   ถ้าเป็นเหตุผลข้อที่๑๐ หรือ ๑๑ แล้วละก็   ผมขอแสดงความชื่นชมด้วยความจริงใจ   แต่ถ้าเป็นข้ออื่นๆละก็   ใคร่ขอความกรุณาให้คุณเพิ่มระดับความจริงใจต่อตัวเองให้มากขึ้น   และปฏิบัติตามเสียงเรียกร้องของหัวใจอย่างแท้จริง   รับรองว่า   ความรู้สึกดีๆจากส่วนลึกในหัวใจจะค่อยๆตามมาในที่สุด

                                         -----------------------------------------------------
    
    
    

วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

บัญญัติ ๑๐ ประการ สำหรับแพทย์ผู้ใส่ใจในความรู้สึกของผู้ป่วยและญาติ

หมายเหตุ   บทความนี้เหมาะกับประชาชนชาวไทยทุกเพศ ทุกวัย และไม่ต้องให้ผู้ปกครองท่านใดพิจารณาด้วยครับ

     โรงพยาบาลและสถานพยาบาลใดๆก็ตาม   ประกอบด้วยบุคคลากรทางการแพทย์มากมายหลายแผนก   บุคคลากรทุกคนนั้น   อย่างน้อยที่สุดมักจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง   แต่จะมากน้อยเพียงใดนั้น   ขึ้นอยู่กับว่า   บุคคลากรผู้นั้นอยู่ในตำแหน่งใด หรือรับผิดชอบงานประเภทใด
     มนุษย์แต่ละคนย่อมมีนิสัยและบุคลิกภาพที่แตกต่างกันไป   สำหรับการทำงานแล้ว   บุคลิกภาพและนิสัยย่อมมีความสัมพันธ์กับงานที่รับผิดชอบ   กล่าวคือ   งานประเภทหนึ่งย่อมเหมาะสำหรับผู้ที่มีบุคลิกภาพและนิสัยแบบหนึ่ง   แต่ไม่เหมาะกับผู้ที่มีบุคลิกภาพและนิสัยอีกแบบหนึ่ง   สำหรับประเด็นนี้   ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายร้ายแรงแต่อย่างใด ในกรณีที่บุคลากรทางการแพทย์ผู้หนึ่งรับผิดชอบงานที่ไม่สอดคล้องกับบุคลิกภาพและนิสัยของตน
     แต่ทว่ามีคุณลักษณะทางจิตใจที่บุคลากรทางการแพทย์ควรนำมายึดถือ และซึมซับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในจิตสำนึกร่วมกัน ก็คือ"การเอาใจเขามาใส่ใจเรา"   บุคลากรทางการแพทย์จะมีความเห็นอกเห็นใจในผู้ป่วยและญาติเพียงใดนั้น   ไม่ใช่เรื่องที่มีมาแต่กำเนิด   แต่เป็นเรื่องที่ฝึกฝนกันได้   เพียงแต่ว่า   คุณจำเป็นต้องฝึกคิดบ่อยๆว่า   สมมุติว่า   ถ้าคุณเป็นผู้ป่วย หรือญาติผู้ป่วยแล้ว   คุณจะรู้สึกอย่างไร   เมื่อเจอกับสถานการณ์ต่างๆที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาซึ่งไม่น่าจะมีผลกระทบต่อความรู้สึกสักเท่าใด   แต่นั่นเป็นมุมมองของบุคลากรทางการแพทย์   ซึ่งจริงๆแล้ว   คุณจะไปเหมาว่า   ผู้ป่วยและญาติจะเข้าใจอย่างที่คุณอยากให้เข้าใจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
     ในที่นี้   ผมใคร่ขอสร้างจิตสมมุติของผู้ป่วยและญาติ   อันเป็นจิตที่อ่อนไหวมากกว่าคนทั่วไป   แล้วให้บุคคลเหล่านั้นมาตั้งขอเสนอกับบุคลากรทางการแพทย์ว่า   ควรจะคิด พูด หรือปฏิบัติอย่างไรกับพวกเขาบ้าง   และข้อเสนอทั้ง ๑๐ ข้อนี้อาจเคยอยู่ในความคิดของคุณมาก่อนแล้วก็เป็นได้
     ๑. ไม่พูดจาหยอกล้อ หรือหัวเราะต่อหน้าผู้ป่วย หรือญาติ  เพราะจะทำให้ผู้ป่วย หรือญาติคิดว่า   คุณไม่ได้มีความเอาจริงเอาจังในการดูแล และให้การรักษาต่อเขาเลย   โปรดทราบว่า   ถ้าคุณยังหัวเราะเล่นๆกับความเป็นความตายของชีวิตคนแล้ว   คุณจะสามารถเอาจริงเอาจังกับเรื่องไหนได้อีกในโลกนี้?
     ๒. กรุณาสละเวลาสักนิด   เพื่ออธิบายเกี่ยวกับโรคที่ผู้ป่วยเป็น   ทั้งในส่วนของสาเหตุของโรค   ตลอดจนแนวทางการรักษาอย่างคร่าวๆพอสังเขป   รับรองได้ว่า   มันไม่ได้ผลาญเวลาในชีวิตคุณไปมากมายหรอก   แต่คุณควรทราบว่า   ความทรมานแสนสาหัสของมนุษย์อย่างหนึ่งก็คือ   การไม่สามารถตอบคำถามที่ตนเองสงสัยอย่างยิ่งยวดได้   ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับโรคของเขาได้   ...เขาคงรู้สึกทรมานน่าดู   ซึ่งคุณก็สามารถช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานใจของเขาได้อย่างไม่ยากเย็นเลย
     ๓. ใช้คำว่า"มัน"ให้น้อยลง  เพราะถ้าคุณใช้คำว่า"มัน"บ่อยๆแล้ว   ผู้ป่วยและญาติอาจสับสนได้ว่า"มัน"ที่คุณพูดถึงนั้นหมายถึงพวกเขาหรือไม่?   ซึ่งผมมีตัวอย่างที่บุคลากรทางการแพทย์ได้พูดกันเองว่า"ขามันบวมมากเลยนะ"   ซึ่งผู้ป่วยจะเข้าใจได้ ๒ แบบ คือ
     ก. "มัน" เป็นสรรพนามแทน"ขา"ของผู้ป่วย
     ข. "มัน"เป็นสรรพนามแทน"ผู้ป่วย"(!)
     ซึ่งในประเด็นนี้   ผมกล้าพูดได้เลยว่า   มีบุคลากรทางการแพทย์หลายคนที่ไม่เคยตระหนักถึงเรื่องนี้เลย
     ๔. ถ้าเกิดสถานการณ์อันเลวร้ายที่สุดต่อผู้ป่วย(แย่ที่สุดคือเสียชีวิต)   ให้ชี้แจงต่อญาติผู้ป่วย   โดยพูดตามเหตุการณ์ที่นำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ   ไม่พูดในจุดที่สถานการณ์สุกงอมในทันที   ซึ่งแบ่งได้เป็น ๒ กรณี คือ
     ๔.๑. ถ้าสถานการณ์ดังกล่าวเกิดแบบทันทีทันใด   ให้คุยกับญาติโดยเรียงตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น   เช่น   เมื่อมีญาติมาติดต่อขอเยี่ยมผู้ป่วยที่ถูกรถชนเมื่อคืนที่ผ่านมา   แต่ญาติยังไม่รู้ว่าผู้ป่วยได้เสียชีวิตแล้ว   แพทย์อาจเล่าตามลำดับเหตุการณ์ดังนี้   ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวตั้งแต่รับเข้ามาที่แผนกฉุกเฉิน   ความดันโลหิตต่ำมาก   มีภาวะช็อค   ประเมินแล้วว่า   ผู้ป่วยเสียเลือดมาก   คาดว่าอวัยวะภายในช่องท้องถูกกระทบกระเทือนรุนแรง   และมีเลือดออกในช่องท้อง   ได้พาผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัดฉุกเฉิน   พบว่าตับและม้ามฉีกขาด   ผู้ป่วยเสียเลือดมากในระหว่างผ่าตัด   แพทย์ได้ระดมให้เลือดอย่างเร่งด่วน   แต่ภาะช็อคไม่ดีขึ้น   หัวใจหยุดเต้นในที่สุด   ทีมแพทย์พยายามกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าและยา   แต่หัวใจไม่กลับมาเต้น   ผู้ป่วยจึงเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ ๓.๓๐ น.    ...ผมหวังว่า   คุณคงจะไม่พูดกับญาติในทันทีที่ได้เจอว่า" อ๋อ...คนนั้นเหรอ...   ตายไปแล้วครับ"
     ๔.๒. ถ้าเป็นสถานการณ์ที่แย่ลงแบบค่อยเป็นค่อยไป   ก็ให้ค่อยๆทยอยเล่าเหตุการณ์ในแต่ละวันให้ญาติรับทราบโดยตลอด   เพื่อญาติจะค่อยๆเริ่มปรับจิตใจ   และทำใจได้ในที่สุด   เช่น   ผู้ป่วยที่เป็นโรคเส้นเลือดสมองแตก   ซึ่งต่อมาได้เกิดภาะแทรกซ้อนเป็นโรคปอดอักเสบ และต่อมาเชื้อได้ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายอย่าง  และสุดท้ายก็เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน  ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด
     ๕. เลือกใช้คำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน   แต่ให้ผลต่อความรู้สึกที่ต่างกัน   เรื่องนี้ค่อนข้างอธิบายลำบาก   แต่ถ้าคุณเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนโยน หรืออ่อนไหวแล้ว   คุณจะเข้าใจมันได้ไม่ยากนัก  ตัวอย่างเช่น   ถ้าตรวจพบว่าผู้ป่วยรายนี้เป็นโรคมะเร็ง   คุณน่าจะพูดกับญาติของเขาว่า   "สำหรับเนื้องอกชนิดนี้   แนวโน้มไม่ดี   สำหรับเขาแล้ว   คงเหลือเวลาอีกไม่มากนัก   "   ซึ่งคงจะดีกว่าพูดว่า "มะเร็งแบบนี้น่ะเหรอ...   ตายแน่ๆ...   ไม่เกิน ๖ เดือนหรอก..."
     ๖. บอกผู้ป่วยและญาติทุกครั้งว่า   คุณจะทำอะไร และทำเพื่ออะไร   เช่น   คุณจะทำเอกซ์เรย์ หรือเจาะเลือดตรวจ   เป็นต้น   ถ้าคุณไม่บอกผู้ป่วยเลย   ก็เหมือนกับเป็นการลดคุณค่าของผู้ป่วยลงจนเทียบเท่ากับวัตถุสิ่งของ   เพราะว่าเวลาคุณอยากจะหยิบข้าวของไปใช้   คุณก็ไม่เคยขออนุญาตต่อของชิ้นนั้นเลย...ใช่ไหมครับ?
     ๗.ชี้แจงให้ผู้ป่วยและญาติทราบทุกครั้งเมื่อคุณพูดถึงข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับโรคที่ผู้ป่วยเป็นต่อหน้าผู้ป่วยและญาติ   โดยเฉพาะข้อมูลที่มีผลในแง่ลบต่อความรู้สึกของผู้ป่วย   เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจผิดว่า   สิ่งที่กำลังพูดอยู่นั้นเป็นเรื่องของตัวผู้ป่วยเองโดยเฉพาะ   เช่น   ถ้าคุณพูดกับเพื่อนแพทย์ด้วยกันเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีผลทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต   คุณก็ควรชี้แจงให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่คุณกำลังตรวจอยู่นั้นทราบด้วยว่า   คุณกำลังพูดถึงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยทั่วไป   ไม่ได้หมายถึงตัวผู้ป่วยคนนี้   แบบนี้เป็นต้น
     ๘.ในบางเรื่อง   เราควรพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมาจะดีกว่า   เช่น   ถ้าผู้ป่วยถามคุณว่า   ฉีดยาเข็มนี้เจ็บหรือไม่?   คุณก็ควรตอบไปตามตรงว่า"เจ็บพอสมควร"   ดีกว่าไปบอกว่า"เจ็บแค่นิดเดียวเอง"   เพราะถ้าผู้ป่วยรายนี้เป็นคนที่ไม่ค่อยอดทนต่อความเจ็บปวดแล้ว   เขาจะรู้สึกว่าเจ็บมาก และคิดว่าคุณโกหก                                                                                                                                          
     ๙. ลดการใช้คำว่า"ทำไม"ลง    เพราะคำนี้มีผลกระทบต่อจิตใจของผู้ป่วยค่อนข้างมาก   จริงๆแล้ว   ข้อนี้คล้ายกับข้อ ๕.   เพียงแต่อยากจะเน้นคำนี้เป็นพิเศษ  ซึ่งคุณสามารถใช้คำอื่นๆที่มีความหมายคล้ายกันแทนได้   เช่น   ในผู้ป่วยที่มาตรวจที่แผนกตรวจผู้ป่วยนอก   แต่ผู้ป่วยมาผิดนัด(มาช้ากว่าวันนัด)   คุณก็ไม่ควรจะพูดว่า"ทำไมคุณถึงไม่มาตรวจตามนัดล่ะครับ?"   แต่น่าจะพูดว่า "คุณมีเหตุขัดข้องอะไรหรือเปล่าครับ?   ถึงไม่ได้มาตรวจตามนัด"   คุณลองคิดดูนะครับว่า   ถ้าคุณเป็นผู้ป่วยแล้ว   คุณอยากได้ยินประโยคไหนมากกว่ากัน
     ๑๐. จงสร้างทัศนคติที่ว่า"คนเราทุกคนล้วนมีคุณค่า และศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน   ไม่มีใครดีเด่น หรือวิเศษไปกว่าใคร   ทุกคนล้วนแต่มีสิ่งดีๆอยู่ในตัว   ไม่มีใครเลว หรือชั่วร้ายไปทั้งหมด"   มีบุคลากรทางการแพทย์(โดยเฉพาะตัวแพทย์เอง)เป็นจำนวนมากที่สนทนากับผู้ป่วย และญาติด้วยความรู้สึกที่ว่า   "เราอยู่เหนือกว่าเขา"   "เราเป็นบุคคลที่พิเศษกว่าเขา"   และรวมไปถึง "เราเป็นบุคคลที่มีคุณค่ามากกว่าเขา"   แต่อย่าลืมว่า   คุณกำลังติดอยู่ในภาพมายาซึ่งคุณสร้างเอาไว้หลอกหลอนตัวเองจนวันตาย   คุณอย่าลืมว่า   ถึงผู้ป่วยเป็นชาวนาก็ตาม   ถ้าไม่มีชาวนาแล้วละก็   หมออย่างคุณก็ไม่มีข้าวจะรับประทาน   หมอก็อยู่ไม่ได้  ถ้าไม่มีชาวนา...   และข้อนี้ถือว่าเป็นข้อที่สำคัญที่สุดที่ช่วยส่งเสริมให้เกิด ๙ ข้อก่อนหน้านี้ทั้งหมด   ถ้าขาดข้อนี้   ก็จะมีข้ออื่นๆได้ยากลำบากขึ้นมาก
     เมื่ออ่านมาแล้วครบ ๑๐ ข้อ   คุณอาจจะคิดว่า   ของแบบนี้มันก็รู้ๆกันอยู่แล้ว   แต่ผมก็อยากถามเหมือนกันว่า   ที่คุณคิดว่ารู้อยู่แล้วนั้น   แต่คุณได้ตระหนักถึงความสำคัญ และได้นำไปปฏิบัติจริงแล้วหรือยัง?   ผมคิดว่า   ถึงเวลาแล้ว(และเลยเวลามามากแล้ว)ที่เราจำเป็นต้องนำทั้ง ๑๐ ข้อนี้ไปปฏิบัติกันอย่างจริงจังเสียที   มิฉะนั้น   สังคมไทยคงจะดำเนินเรื่อยไปในรูปแบบของชีวิตอันโดดเดี่ยวท่ามกลางผู้คนพลุกพล่านเป็นแน่แท้   เป็นสังคมที่ขาดความอบอุ่นทางใจ   ซึ่งดูแล้วน่าเศร้าเกินบรรยายครับ

                                    -------------------------------------------------------------



























วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

คุณคือนักแสดงละครมืออาชีพ

     ณ ค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว   ผมนั่งสงบนิ่งอยู่บนม้าหิน   สายตาเหม่อมองไปยังกลุ่มดาวอันไกลโพ้น   ลมหนาวพัดโชยมาปะทะใบหน้าจนชาวูบ   สุดจะทนต่อความหนาวเย็นยะเยือกในบรรยากาศ   แต่ทว่าภายในใจนั้น กลับเย็นยะเยือกยิ่งกว่า
     ย้อนระลึกทบทวนกลับไป   ความเหนื่อยยากจากการงานในชีวิตคนทำงานอย่างเรา   ทำให้เราอาจหลงลืมจุดยืน   ตลอดจนหลักการและเหตุผลในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า   แต่ถ้ามีเพียงสัก ๑ นาทีที่จิตของเราสงบนิ่งแล้ว   คำถามต่างๆก็จะผุดขึ้นมามากมายพร้อมกับคำตอบอันหลากหลาย ที่ชวนให้ตัดสินใจว่า   คำตอบใดถูกต้องและเหมาะสมที่สุด
     ณ ค่ำคืนนั้น  ผมเริ่มมีคำถามว่า   "สิ่งที่เราเป็นอยู่ และสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้น   เกิดจากความต้องการอันแท้จริงของเราหรือไม่?"   แน่นอนครับ...   คำตอบย่อมมีทั้งใช่ และไม่ใช่
     เมื่อนึกย้อนกลับไปในวันเวลาที่เราลืมตาขึ้นมองโลกเป็นครั้งแรก   และสื่อสารด้วยวัจนภาษาไม่ได้   แต่เรากลับสามารถแสดงความต้องการของตัวเองได้อย่างตรงไปตรงมา   ถ้าชอบก็จะหัวเราะ   ถ้าไม่ชอบก็จะร้องไห้   เราไม่เคยเกรงกลัวว่า   จะเสียภาพพจน์จากการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา   เราไม่เคยเกรงกลัวอิทธิพล หรืออำนาจมืดใดๆที่จะมาทำอันตรายเรา   เราเป็น"เด็กน้อย"ที่แสนจะบริสุทธิ์ใจ
     "เด็กน้อย"ได้เติบโตขึ้นในสังคมแห่งความคาดหวัง   สังคมแห่งการปรุงแต่งภาพพจน์ และทำนุบำรุง"เปลือก"อย่างแข็งขัน   จากเด็กน้อยที่ดูเป็นมนุษย์ผู้มีชีวิตชีวาในช่วงแรกของชีวิต   ได้กลับกลายเป็น"ตุ๊กตา"ที่พ่อแม่และคนรอบข้างจับมาแต่งตัวให้อย่างประณีตบรรจง   แต่ขอถามจริงๆเถอะว่า   คุณอยากเลือกเครื่องแต่งตัวเอง หรือว่าให้คนอื่นคอยแต่งตัวให้ไปจนวันตาย
     ขณะนี้ผู้คนในสังคมกำลังนิยมดู"ละครเวทีชีวิต"ซึ่งค่อนข้างสมจริง  แต่อย่างไรก็ตาม   มันก็คือ"ละคร"อยู่วันยังค่ำ   เป็นที่แน่นอนว่า   "ละคร" ย่อมดูสนุกกว่าชีวิตจริงมากมายนัก   และถ้าคุณแสดงละครได้ดีแล้ว   ลาภ   ยศ   สรรเสริญ ย่อมจะตามมา   แต่อย่าลืมถามตัวเองว่า   คุณอยู่ที่ไหน?   ..."โลกแห่งความเป็นจริง" หรือ"โลกแห่งละคร"กันแน่?
     คุณลองถามตัวเองดูหน่อยเถอะว่า   สิ่งที่คุณได้ทำมาตลอดทั้งชีวิตนั้น   เป็นสิ่งที่คุณตัดสินใจเลือกด้วยตัวเองมากน้อยแค่ไหน?   เห็นไหมเล่า...   คุณเริ่มรู้สึกละอายในการกระทำเมื่อครั้งอดีตขึ้นมาแล้ว   ไม่มากก็น้อย   คุณไม่ได้เลือกศึกษาเล่าเรียนในสาขาวิชาที่คุณชอบ   คุณตามใจ(ตามคำบัญชา)ของพ่อแม่มาโดยตลอด   คุณเลือกงานอดิเรกเพื่อเอาไว้อวดคนอื่นๆทั้งๆที่คุณไม่ได้ชอบกิจกรรมแบบนั้นจริงๆ   คุณเลือกทำงานกับองค์กรนี้เพราะได้ค่าตอบแทนมหาศาลทั้งๆที่คุณไม่ได้ศรัทธาในองค์กรหรือวิชาชีพนี้เลย   เอาอีกแล้ว!   คุณบอกว่า   คุณเลือกคู่ชีวิตคนนี้โดยดูจากนิสัยเป็นสำคัญ   เปล่าเลย...   เป็นเพราะเขาร่ำรวยต่างหาก   ซึ่งต่อไปคุณจะได้เอาเงินเขาไปถลุงเล่นอย่างมันมือ   และเป็นเรื่องพอดีที่พ่อแม่ของคุณก็ชอบเขา(หรือเงินทองของเขา)เสียด้วย   ช่างลงตัวดีแท้   อะไรกันนี่!   คุณเปิดเพลงแจ๊ซฟังทั้งๆที่ไม่ได้ชอบเพลงแจ๊ซสักหน่อย   คุณเอาเพลงแจ๊ซไว้แสดงให้คนอื่นๆเห็นว่า   คุณเป็นผู้มี"รสนิยมวิไล"ต่างหาก   คุณจะให้ลูกคุณเรียนหมอหรือครับ?   แล้วเคยถามลูกตัวเองดูบ้างหรือเปล่าว่า   จริง ๆแล้ว   เขาอยากเรียนสาขาไหนกันแน่?!  
     เอาละครับ   คุณเดินมาถึงทางสองแพร่งแล้ว   จะเลือกเดินไปทางไหนดีครับ?   ระหว่าง...
     ๑.มัวแต่วิตกกังวลในภาพพจน์ของตัวเองจนต้องคอยแต่เอาอกเอกใจคนอื่น   และสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไป
     ๒.เด็ดเดี่ยวไปเลย   และประกาศแนวทางชีวิตของตัวเองให้ชัดเจนโดยไม่ต้องไปใส่ใจกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนรอบข้าง   แต่สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้คือ  ต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วย
    
     นึกอยู่แล้วว่าคุณต้องเลือกข้อ ๑.   ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น"นักแสดงละครมืออาชีพ"   อย่างไรก็ตาม   บุคคลเหล่านี้ก็ได้ดิบได้ดีกันถ้วนหน้า   แต่ถ้าพวกเขาเหล่านี้ได้มองลงไปลึกๆในจิตใจของตัวเองแล้ว   ก็จะเต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วน   ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเรียกได้ว่าเป็น"ความสุข"ได้หรือไม่?   และขอแสดงความยินดีสำหรับท่านที่เลือกข้อ ๒.  เพราะบุคคลอย่างท่านนั้นหาได้ยากจริงๆ  ท่านได้ยอมสละแล้วซึ่งลาภ   ยศ   สรรเสริญ   แต่ท่านกลับได้รับ"ความสุขอันแท้จริง"   และได้จิตใจอันบริสุทธิ์   เทียบเท่าได้กับวันแรกที่ท่านได้ลืมตาขึ้นมองโลก   ยินดีด้วยครับ   ..."เจ้าเด็กน้อย"

                                -----------------------------------------------------------------
    

วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วิวัฒนาการแห่งจิตวิญญาณความเป็นแพทย์

     "แพทย์" เป็นอาชีพที่มีเกียรติในสังคมไทย   และเป็นอาชีพที่มีโอกาสในการช่วยเหลือผู้คนในสังคมได้มากกว่าอาชีพอื่นๆ   ที่เป็นเช่นนี้   เพราะผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับ"ชีวิต"มากกว่าสิ่งอื่นใด   ถ้าคนดีไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้   ก็จะไม่สามารถประกอบคุณงามความดีเพื่อส่วนรวมได้อีกต่อไป   ถ้าคนเห็นแก่ตัวไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้   ก็จะไม่สามารถสะสมทรัพย์สิน   เงินทอง   อำนาจ   และเสพสุขจากสิ่งเหล่านั้นได้อีกต่อไป   ดังนั้น "ชีวิต"สำคัญมากเหลือเกิน
     ผู้ที่จะมาเป็นแพทย์ได้นั้น   จะต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับความเป็นความตายของคน   ดังนั้น   แพทย์คงจะต้องมีคุณสมบัติที่พิเศษกว่าคนทั่วๆไปบ้าง   กล่าวคือ
     ๑.ต้องมีความรู้ดี   จึงจะสามารถวินิจฉัย และรักษาโรคได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
     ๒.ต้องมีคุณธรรมหลายประการ   ได้แก่   ความเมตตากรุณา   ความขยันหมั่นเพียร   ความเสียสละ   ความอดทนอดกลั้น   ความไม่โลภ   ความใส่ใจใฝ่ศึกษา   ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน   เป็นต้น
     ในอดีต   ประชาชนได้มองเห็นและตระหนักถึงความรู้ ความสามารถ   และคุณธรรมของแพทย์ในประเทศไทยได้อย่างชัดเจนโดยไม่มีข้อกังขา   เราจะได้พบเห็นแพทย์ผู้มีความสามารถสูงได้อุทิศตัวทำงานให้กับโรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยในท้องที่ทุรกันดารอยู่นานหลายสิบปี   โดยได้ค่าตอบแทนเพียงเดือนละไม่กี่พันบาท   และได้ทุ่มเททำงานตลอด ๒๔ ชั่วโมง  แม้ว่าจะเป็นการทำงานนอกเวลาราชการ   ก็ไม่เคยพร่ำบ่นเรียกร้องถึงค่าตอบแทนที่ควรได้เพิ่มเติมตามจำนวนชิ้นงานที่ตนเองทำ   ไม่มีการพูดถึงตัวเลขเงินในบัญชีธนาคาร   รถยนต์หรู  บ้านหลังใหญ่โต   การท่องเที่ยวในต่างประเทศ   ตลอดจนเฟอร์นิเจอร์ประดับกายอันจะเสริมความเป็นสง่าราศรีให้แก่ตนเอง
     เมื่อเวลาผ่านไป   แพทย์รุ่นใหม่ได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ   และประชาชนได้เริ่มสังเกตเห็นว่า   มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทางด้านความคิด   ทัศนคติ   และจิตวิญญาณในตัวแพทย์ส่วนใหญ่   กล่าวคือ   ในแง่ของความรู้ความสามารถนั้น   เนื่องจากในปัจจุบันได้มีวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ   ดังนั้น   ความรู้ของแพทย์ในปัจจุบันจึงมากกว่าในอดีตอย่างแน่นอน   แต่ในแง่ของคุณธรรมในจิตใจนั้นแตกต่างกัน   โดยมีแนวโน้มว่า   จากอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น   คุณธรรมในจิตใจของแพทย์ค่อยๆลดน้อยลงจนเห็นได้ชัด
     เราคงจะต้องมาร่วมกันค้นหาว่า   อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณธรรมในจิตใจแพทย์ค่อยๆลดลง   โดยจะพิจารณาเป็นประเด็นๆไปดังนี้
     ๑. การคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นนักศึกษาแพทย์  
     สำหรับประเทศไทยนั้น   การคัดเลือกนักศึกษาแพทย์จะคัดเลือกจาก"ผลการเรียน"เป็นหลัก   ในอดีต   ผู้ที่จะเรียนแพทย์จะต้องเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ก่อน   แล้วจึง"ข้ามฟาก"ไปเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ต่อ   ซึ่งเมื่อเรียนแพทย์จบแล้ว   ก็จะได้รับปริญญาบัตร ๒ ใบ คือ  วิทยาศาสตรบัณฑิต   และแพทยศาสตรบัณฑิต
     ในปัจจุบัน   การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในคณะแพทยศาสตร์   ก็ยังเป็นการคัดเลือกคนที่"เรียนเก่ง"เข้ามาเรียน   และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างระบบการคัดเลือกในอดีตและปัจจุบันแล้ว   จะเห็นว่าล้วนเป็นระบบที่ไม่ได้ยืนยันว่า   ได้คัด"คนดีแท้"เข้ามาเรียนแพทย์   ถึงแม้ในปัจจุบัน   จะมีข้อสอบวัดความถนัดทางการแพทย์ และระบบการสอบสัมภาษณ์ของแต่ละสถาบันเพื่อคัดกรองบุคคลแล้วก็ตาม   แต่ก็คงเป็นได้แค่การคัดกรองแบบหยาบๆเพื่อไม่ให้"คนไม่ดี" รวมไปถึง"ผู้ป่วยโรคจิต"เข้ามาเรียนแพทย์ได้   อย่างไรก็ตาม   ระบบนี้ก็ยังไม่สามารถคัดกรองได้ลึกลงไปถึง"คุณธรรรมระดับละเอียดอ่อน"ได้   เช่น   ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม   ความมีวุฒิภาวะทางอารมณ์   ความเกรงกลัวและละอายต่อบาป   ความเรียบง่ายสมถะ   ความเอาใจเขามาใส่ใจเรา   เป็นต้น   ดังนั้น   นักศึกษาแพทย์จึงมีทั้งผู้ที่มีจิตใจใฝ่คุณธรรม และไม่ใส่ใจในคุณธรรมปะปนกันไป   ซึ่งรูปแบบนี้คงไม่แตกต่างกันระหว่างอดีตกับปัจจุบัน   ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว   ทำไมสัดส่วนของแพทย์ที่มีคุณธรรมในอดีตจึงมีมากกว่าในปัจจุบัน...   หรืออาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า   ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แตกต่างกันอาจจะอยู่ที่ช่วงเวลาที่กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนแพทย์ก็เป็นได้
     ๒. แนวทางในการอบรมเพื่อให้นักศึกษาแพทย์เป็นผู้มีคุณธรรมสูง
     จากข้อ๑.   เราจะเห็นแล้วว่า   ในแง่ของคุณธรรมนั้น   นักศึกษาแพทย์แต่ละคนจะมีระดับคุณธรรมในจิตใจที่แตกต่างกันไป   ดังนั้น   หลักสูตรแพทยศาสตร์ที่ดีต้องเป็นหลักสูตรที่เสริมสร้างให้นักศึกษาแพทย์เป็นผู้มีคุณธรรมสูงส่งได้ทุกคน   ซึ่งนั่นคืออุดมคติ   ได้มีผู้กล่าวโทษหลักสูตรแพทยศาสตร์ในปัจจุบันว่า   ไม่สามารถทำให้นักศึกษาแพทย์จบออกมาเป็น"แพทย์ที่ดี"ได้   แต่เป็นได้เพียง"แพทย์ผู้มีความรู้ความสามารถดี"เท่านั้นเอง   ซึ่งต่างจากหลักสูตรในอดีตที่ผลิต"แพทย์ที่ดี"ออกมาในสัดส่วนที่มากกว่ายุคปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด   ทำให้ต้องมองย้อนกลับไปในอดีต   ซึ่งก็พบว่า   หลักสูตรในอดีตก็ไม่ได้เน้นเรื่องคุณธรรมให้เป็นเรื่องเป็นราวชัดเจนแต่อย่างใด   แล้วทำไมสัดส่วนของ"แพทย์ทีดี"จึงน้อยลงในปัจจุบัน?   เป็นไปได้หรือไม่ว่า   การปลูกฝังคุณธรรมให้แก่นักศึกษาแพทย์นั้นไม่จำเป็นต้องทำเป็นหลักสูตรที่เป็นรูปธรรมชัดเจน   แต่อาจเป็นการปลูกฝังคุณธรรมให้ค่อยๆซึมซับเข้าไปในจิตใจของนักศึกษาแพทย์ทุกเมื่อเชื่อวันจนเป็นวิถีชีวิตกันไปเลย   สำหรับวิธีการปลูกฝังที่ดีที่สุด และเป็นรูปธรรมที่สุดนั้นก็คือ   การมีตัวอย่างของ"แพทย์ที่ดี"ให้นักศึกษาแพทย์ได้เห็น   พอถึงตรงนี้แล้ว   ผมกำลังจะบอกว่า   โรงเรียนแพทย์ในยุคปัจจุบันมีอาจารย์แพทย์ที่เป็นตัวอย่างที่ดีน้อยลงใช่หรือไม่?   ซึ่งผมคงจะต้องตอบตามตรงว่า"ใช่"   แต่เป็นเพราะเหตุใดนั้น   คงต้องมาพิจารณากันในข้อ ๓. กันต่อไป
     ๓.ทัศนคติและมุมมองเรื่องคุณธรรมของคนในสังคมไทย
        คนไทยในยุคหลังๆให้ความสำคัญต่อ"คุณธรรม"น้อยกว่า"สิ่งอื่น"   ซึ่งคำว่า"สิ่งอื่น"ในที่นี้   หมายถึง   ทรัพย์สิน   เงินทอง   ชื่อเสียง   ตำแหน่ง   อำนาจ   ตลอดจนภาพพจน์   และรูปลักษณ์ภายนอก   ถ้าให้ลองไล่ดูความปรารถนาอันดับต้นๆของคนไทยในยุคหลังๆแล้ว   ก็ล้วนแต่วนเวียนอยู่กับ"สิ่งอื่น"แทบทั้งสิ้น   โดยที่"สิ่งอื่น"นี้ล้วนมีคุณสมบัติที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน   ซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดอันฝักใฝ่ในวัตถุนิยมของคนไทย(รวมทั้งชาวโลกด้วย)   ส่วนคุณธรรมนั้นเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบต่อ"สิ่งอื่น"ตรงที่คุณธรรมไม่แสดงคุณสมบัติที่เป็นรูปธรรมชัดเจน   ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบ หรือชั่งตวงวัดปริมาณได้   อีกทั้งยังไม่เห็นผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรมชัดเจน   อย่างไรก็ตาม   ในความเป็นจริงแล้ว   คุณธรรมให้ผลตอบแทนเสมอ   เพียงแต่ว่าคนส่วนใหญ่มองไม่เห็นเอง
     สาเหตุของเรื่องนี้เกิดจากการที่คนไทยไปรับเอาแนวคิดของระบบ"ทุนนิยม"   "บริโภคนิยม"   และ "วัตถุนิยม"   จากประเทศตะวันตกมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา   ซึ่งอาจารย์แพทย์   แพทย์   และนักศึกษาแพทย์ ก็ติดอยู่ในกระแส"ทุนนิยม"   "วัตถุนิยม"   และ"บริโภคนิยม" เช่นเดียวกัน    ซึ่งเมื่อเราได้พิจารณามาถึงจุดนี้แล้ว    เราจะมองเห็นภาพของสังคมใหญ่สังคมหนึ่งซึ่งมี"วัฒนธรรมวัตถุนิยม"เป็นเสมือนอาจารย์ของสถาบันสังคมและวัฒนธรรมโลก หรือ"อาจารย์แห่งกระแสโลก"  โดยมีอาจารย์แพทย์   แพทย์   และนักศึกษาแพทย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของลูกศิษย์ตัวน้อยๆผู้ว่านอนสอนง่ายของ"อาจารย์แห่งกระแสโลก"   และแล้ว...   ทุกอย่างก็เป็นไปตามขั้นตอน   กล่าวคือ   อาจารย์แพทย์ก็มัวแต่วิ่งวุ่นเพื่อเรียนรู้และปฏิบัติตาม"กระแสโลก"ตามคำสอนของ"อาจารย์แห่งกระแสโลก" จนไม่ได้มาใส่ใจในเรื่องคุณธรรมของตนเอง และของลูกศิษย์   ส่งผลให้ตัวอย่างอาจารย์ผู้มีคุณธรรมสูงส่งซึ่งพอจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับนักศึกษาแพทย์ได้ก็มีจำนวนลดน้อยถอยลงไปทุกทีๆ(ในขณะที่มีอาจารย์แพทย์ที่มีความเก่งกาจทางวิชาการมากขึ้นเรื่อยๆ)
     จริงๆแล้ว   ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่สมควรกล่าวถึงด้วยในที่นี้  คือ   บิดามารดา หรือผู้ปกครองของนักศึกษาแพทย์นั่นเอง   เพราะบุคคลเหล่านี้มีอิทธิพลสูงในการเป็นตัวอย่างที่ดีในแง่คุณธรรม   แต่เมื่อพิจารณาดูแล้ว   บิดามารดา   ตลอดจนผู้ปกครองของนักศึกษาแพทย์   ก็ล้วนแต่ประกาศตัวเป็นลูกศิษย์ของ"อาจารย์แห่งกระแสโลก"ไปแล้วแทบทั้งสิ้น   อาจจะมีบางคนที่พยายาม"สวนกระแสโลก"จนมาเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็กๆได้    แต่ทว่าเราหาตัวอย่างที่ดีแบบนั้นได้ยากเย็นเหลือเกิน
     ๔.ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งเสริมคุณธรรมและสนับสนุนผู้มีคุณธรรมในองค์กร      
     การสร้างระบบใดๆในองค์กรนั้น   เกิดจากแนวคิดของกลุ่มบุคคลเพียงกลุ่มหนึ่งในองค์กร   ซึ่งได้แก่กลุ่มผู้บริหารนั่นเอง   ซึ่งกลุ่มผู้บริหารนั้นมาจาก ๒ วิธีการ   คือ   การเลือกตั้ง และการแต่งตั้งโดยกลุ่มผู้บริหารเดิมนั่นเอง
     เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า   ผู้บริหารองค์กรส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้งโดยได้รับความเห็นชอบจากกลุ่มผู้บริหารเดิม   เพราะฉะนั้น   แนวคิด และทัศนคติของผู้บริหารรุ่นใหม่และเก่าก็คงไม่แตกต่างกันมากนัก   อาจกล่าวได้ว่า "เข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ย"ด้วยซ้ำไป    และเป็นธรรมดาที่นโยบายขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณธรรมในองค์กรนั้นขึ้นอยู่กับผู้บริหารแทบทั้งหมด   ถ้าผู้บริหารใส่ใจในคุณธรรมแล้ว   ผู้ที่ประสบความสำเร็จในองค์กรย่อมเป็นผู้มีคุณธรรมสูง   ซึ่งบุคคลเหล่านั้นก็จะได้เป็นผู้บริหารที่มีคุณธรรมสูงต่อไปในอนาคต
     แต่ปรากฏว่า   สังคมไทยได้รับอิทธิพลจาก"อาจารย์แห่งกระแสโลก"ในข้อ ๓. มากเกินไป   ทำให้โรงเรียนแพทย์ซึ่งจัดว่าเป็นองค์กรแบบหนึ่งถูกครอบงำโดย"กระแสโลก"   ส่งผลให้โรงเรียนแพทย์ส่วนใหญ่ให้ความสนใจแต่เรื่องงานค้นคว้าวิจัยทางวิชาการ และการพัฒนาคุณภาพการบริการกันมากเกินไป  จนหลงลืมที่จะให้ความสำคัญกับคุณธรรมมากเท่าที่ควรจะเป็น
     ในโรงเรียนแพทย์นั้น   ได้มีการจัดประเมินความรู้ความสามารถของนักศึกษาแพทย์กันอย่างเข้มข้นด้วยข้อสอบหลายแบบหลายประเภทเต็มไปหมด   แต่ทว่าไม่มีการออกแบบ"ข้อสอบทางคุณธรรม"ที่มีคุณภาพดีพอสำหรับนักศึกษาแพทย์ได้   สาเหตุคงเป็นจาก...
     ก.ข้อสอบวัดคุณธรรมออกแบบได้ยากมาก
     ข.ข้อสอบวัดคุณธรรมไม่สามารถตรวจสอบคัดกรองความเสแสร้งหลอกลวงของนักศึกษาแพทย์ที่เฉลียวฉลาด แต่ขาดคุณธรรมได้
     ดังนั้น   ในปัจจุบัน   นักศึกษาแพทย์ที่สอบตกด้วยสาเหตุทางคุณธรรมนั้น   มักเกิดจากการกระทำความผิดที่เห็นได้ชัด   เช่น   ไม่เข้าเรียนในห้องเรียน   ไม่ไปตรวจผู้ป่วยในตึกผู้ป่วยนอกหรือตึกผู้ป่วยในตามที่ได้รับมอบหมาย   ไม่ส่งรายงานเกี่ยวกับผู้ป่วย   มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับอาจารย์ หรือเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน   หนีการอยู่เวร   ลอกข้อสอบเพื่อน   เป็นต้น   แต่เราไม่สามารถลงโทษนักศึกษาแพทย์ที่ฉลาด   แต่ขาดคุณธรรมอันละเอียดอ่อนกว่านั้นได้   เพราะฉะนั้น   เราจะได้พบเห็นนักศึกษาแพทย์ที่ฉลาด  แต่ทว่าเห็นแก่ตัว   ไม่มีความเสียสละ   เห็นแก่เงิน และวัตถุสิ่งของ   เดินไปเดินมาอยู่ในโรงเรียนแพทย์ด้วยความภาคภูมิ   และนักศึกษาแพทย์เหล่านี้ก็จะได้ดิบได้ดีในการศึกษาเล่าเรียนกันแทบทุกคน   และเรียนจบออกไปด้วยผลการเรียนอันยอดเยี่ยม   เป็นที่ชื่นชมของญาติพี่น้องและอาจารย์   และเป็นหน้าเป็นตาให้กับสถาบัน
     จากสถานการณ์ดังกล่าว   นักศึกษาแพทย์ทั้งหลายก็จะเริ่มเรียนรู้ว่า   "คุณธรรม" ไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าใดนักในโรงเรียนแพทย์   ดังนั้น  แค่ทำข้อสอบให้ได้คะแนนมากๆเข้าไว้   และไม่ทำความผิดร้ายแรงก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ตนเองเรียนจบหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตได้   ซึ่งจัดได้ว่า   เป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอดอย่างหนึ่งของมนุษย์...และสัตว์โลก
    
     และเมื่อได้นำหลายๆประเด็นที่ได้กล่าวมาทั้งหมดมาวิเคราะห์ร่วมกันแล้ว   จะเห็นว่า   คนไทยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งให้ความสำคัญกับระบบ"ทุนนิยม"   "บริโภคนิยม"  และ "วัตถุนิยม" มากกว่าคุณธรรมซึ่งเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ   แนวคิดแบบนี้ได้มีผลกระทบต่อระดับปัจเจกบุคคล และครอบครัว   รวมทั้งขยายตัวไปถึงองค์กรในสังคมจนถึงระดับประเทศ   สำหรับการแก้ไขนั้นคงเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดระดับปัจเจกบุคคล   แต่ก็คงต้องเริ่มกันที่หน่วยย่อยไปจนถึงหน่วยใหญ่ของสังคม   ดังนี้
     ๑. บิดามารดาต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการยึดมั่นในคุณธรรมให้บุตรเห็นเป็นแบบอย่าง
     ๒. ครูอาจารย์ในสถาบันการศึกษา(รวมทั้งโรงเรียนแพทย์)ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการยึดมั่นในคุณธรรม
     ๓. องค์กร(รวมทั้งโรงเรียนแพทย์)ต้องมีนโยบายสร้างเสริมคุณธรรมในองค์กร   และส่งเสริมให้กำลังใจบุคลากรที่ยึดมั่นในคุณธรรม
     ๔. องค์กร(รวมทั้งโรงเรียนแพทย์)ต้องสนับสนุนให้ผู้มีคุณธรรมเข้ามาเป็นผู้บริหารองค์กร
     ๕. โรงเรียนแพทย์ต้องพยายามจัดหลักสูตรเพื่อส่งเสริมคุณธรรมในตัวนักศึกษาแพทย์ให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้   และไม่ลดละความพยายามในการออกแบบข้อสอบ เพื่อการประเมินผลทางด้านคุณธรรมในตัวนักศึกษาแพทย์อย่างเต็มที่
     ๖. สังคมต้องให้คุณค่าแก่"คนดี"ให้เท่าเทียมกับ"คนเก่ง"   ไม่ใช่เอาแต่ยกยอปอปั้นแต่"คนเก่ง"เพียงฝ่ายเดียว   แล้วจัดหารางวัลอันกระจ้อยร่อยมามอบให้แก่"คนดี"เพียงเพื่อรักษาภาพพจน์ขององค์กรไว้แต่เพียงเท่านั้น
     ๗. ส่งเสริมภูมิปัญญาไทยให้มากขึ้น   ลดการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกที่ไม่เหมาะสมกับสังคมไทยมาใช้อย่างไม่ไตร่ตรองให้ดี
     ๘. สำหรับข้อสุดท้าย   ...ยังจำกันได้ไหมครับว่า"พออยู่   พอกิน   พอใช้   อย่างพอเพียง"

                ----------------------------------------------------
    
         

วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การส่งเสริมวงจรชีวิตของหนอนหนังสือเมืองไทย

     ในวันหนึ่ง   ผมได้รับรู้ว่า   คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละ ๖ บรรทัดจากสิ่งตีพิมพ์ฉบับหนึ่ง!   ฟังดูแล้วเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ และน่าเศร้าใจไม่น้อย   ทำให้เกิดคำถามว่า   ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นได้   คำตอบที่พอจะเกิดขึ้นในหัวสมองของผม คือ...
     ๑.เป็นเพราะราคาของหนังสือแพงเกินไปหรือเปล่า?   เท่าที่ได้คุยกับบรรดาหนอนหนังสือหลายๆคน   ส่วนใหญ่จะบอกว่า   ราคาหนังสือในปัจจุบันนี้แพงเกินไป   นอกจากนี้   คอลัมนิสต์ประจำนิตยสารบางฉบับก็เคยวิพากษ์วิจารณ์ถึงราคาหนังสือในปัจจุบันว่าแพงเกินไปเช่นกัน   สำหรับในมุมมองของผมนั้น   ถ้าให้เลือกระหว่างการรับประทานอาหารจนอิ่ม(พอสมควร)สัก ๑ มื้อ   กับการเลือกหนังสือสัก ๑ เล่มแล้ว   ผมคงต้องเลือกรับประทานอาหาร   เพราะว่า   ราคาอาหารสำหรับ ๑ มื้อนั้นอยู่ที่ประมาณ ๓๐-๕๐ บาท(ในกรณีที่ซื้ออาหารรับประทาน   ไม่ได้ทำอาหารรับประทานเอง)   ซึ่งเงินจำนวน ๓๐-๕๐ บาทนั้นในสมัยนี้ยังไม่พอที่จะซื้อนิตยสารรายเดือนที่วางขายอยู่ตามแผงหนังสือทั่วไปด้วยซ้ำ   นอกจากนี้ยังมีหนังสือดีๆที่เขียนโดยนักเขียนที่มีคุณภาพ   ซึ่งมีทั้งเรื่องสั้น   นวนิยาย   กาพย์กลอน   บทความสารคดีต่างๆอันทรงคุณค่า   แต่เมื่อมองราคาแล้วก็แทบจะหงายหลัง   เพราะหนังสือดีๆเหล่านั้น   ส่วนใหญ่มักจะมีราคามากกว่า ๑๕๐ บาทแทบทั้งสิ้น   โดยเฉพาะบางเล่มที่มีขนาดใหญ่และมีความหนาหลายร้อยหน้ากระดาษ   ก็มักจะมีราคาสูงถึง ๒๐๐-๓๐๐กว่าบาทก็มี   ดังนั้น   จะเห็นว่า   ราคาหนังสือในปัจจุบันก็เป็นอุปสรรคสำคัญในการดำรงชีวิตของพวกหนอนหนังสือ   รวมทั้งชาวบ้านตาดำๆด้วยครับ
     ๒.เป็นเพราะห้องสมุดมีน้อยเกินไปหรือเปล่า?   เรายังไม่ควรเอาราคาของหนังสือมาเป็นข้อกล่าวอ้างที่จะทำให้ไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือ   จริงๆแล้ว   เรายังมีทางเลือกอยู่อีกทางหนึ่ง   คือการใช้บริการห้องสมุด   อย่างไรก็ตาม  ถ้าลองมาคิดกันดูว่า   ถ้าคุณไม่มีบ้าน หรือที่พักอยู่ในเขตจังหวัดกรุงเทพฯแล้ว   คุณจะไปเข้าห้องสมุดที่ไหน?   ผมขออนุญาตที่จะไม่กล่าวถึงห้องสมุดที่มีอยู่มากมายหลายแห่งในจังหวัดกรุงเทพฯ   แต่ผมจะขอเน้นถึงเฉพาะห้องสมุดที่มีอยู่ในต่างจังหวัด   ซึ่งผมเคยมีประสบการณ์ในการเข้าไปใช้บริการในห้องสมุดเหล่านี้   และถ้าให้วิจารณ์กันตามเนื้อผ้าแล้ว   จำนวนห้องสมุดในต่างจังหวัดนั้นมีอยู่น้อยมาก   ถ้าไม่นับรวมห้องสมุดที่จำเป็นต้องมีอยู่ในโรงเรียน   วิทยาลัย   และมหาวิทยาลัยแล้ว   ผมก็พอจะนึกถึงห้องสมุดเพิ่มขึ้นมาได้อีกเล็กน้อย   นั่นคือ   ห้องสมุดประชาชน   ซึ่งก็มีอยู่แค่อำเภอละไม่กี่แห่งเท่านั้น
     ทีนี้   เราลองมาสำรวจดูหนังสือในห้องสมุดประชาชนกันบ้างว่า   มีหนังสือประเภทใดอยู่บ้าง   ซึ่งก็พบว่า   หนังสือในห้องสมุดประชาชนส่วนใหญ่เป็นหนังสือเก่าๆที่ได้รับบริจาคจากประชาชน และองค์กรของภาครัฐและเอกชนต่างๆ   สัดส่วนของหนังสือใหม่มีน้อยมาก   โดยรวมแล้วขาดซึ่งความน่าดึงดูดใจให้ประชาชนทั่วไปอยากเข้าไปใช้บริการ   ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ   ถ้าให้เปรียบเทียบห้องสมุดประชาชน กับร้านหนังสือขนาดใหญ่ในตัวจังหวัดที่มีปริมาณหนังสือและนิตยสารใหม่ๆหลากหลาย และมีจำนวนมากแล้ว   จะเห็นได้ชัดว่ามีประชาชนไปยืนอ่าน(รวมทั้งนั่งอ่าน)หนังสือมากกว่าประชาชนที่ไปใช้บริการห้องสมุดประชาชนเสียอีก
     ๓.เป็นเพราะคนไทยขาดวัฒนธรรมการอ่านหรือเปล่า?   มีข้อสังเกตง่ายๆคือ   เวลาที่คนไทยมีช่วงเวลาที่ว่างนั้น   คนไทยส่วนน้อยมากจะเอาเวลานั้นมาอ่านหนังสือ   ซึ่งสังเกตได้จากช่วงเวลาว่างระหว่างรอรถโดยสาร หรือรถไฟออกจากสถานี   รอเครื่องบินออก   รอภาพยนตร์ฉาย   รอเพื่อนที่นัดไว้   รอตรวจกับแพทย์ที่คลินิก หรือโรงพยาบาล   รอคิวเพื่อทำธุระต่างๆในสถานที่ราชการ รวมทั้งธนาคาร   เป็นต้น   เท่าที่สังเกตได้นั้น   คนไทยส่วนใหญ่จะมีกิจกรรมขณะรอได้แก่   การคุยโทรศัพท์มือถือ   การเล่นโทรศัพท์สมาร์ทโฟน   การพูดคุย(รวมทั้งนินทาชาวบ้าน)   การดูโทรทัศน์(สาธารณะ)   การกิน...กิน...และกิน   รวมทั้งการนั่งเฉยๆ(ไม่รู้จะทำอะไรดี)   จนกระทังนั่งหลับ(ไม่รู้จะทำอะไรจริงๆแล้วนะจ๊ะ)   ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้แตกต่างจากประเทศแถบเอเชียบางประเทศ   เช่น   ญี่ปุ่น   ซึ่งเมื่อมีเวลาว่างเมื่อไหร่แล้ว   คนญี่ปุ่นจะหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านทันที
     สาเหตุที่เป็นเช่นนี้   คงสืบเนื่องมาจากรากเหง้าวัฒนธรรมไทยที่ขาดส่วนกระตุ้น หรือส่งเสริมให้มีนิสัยรักการอ่าน   คนไทยส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจและความเชื่อว่า   การอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมตลอดจนหน้าที่ของนักเรียนนักศึกษาเท่านั้น   คนไทยส่วนใหญ่ยังให้คุณค่าแก่การอ่านหนังสือค่อนข้างต่ำ   บ้างก็มองว่าการอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมของ"เด็กเรียนผู้ซื่อบื้อ"   บ้างก็มองว่าเป็นกิจกรรมที่ดูไม่โก้เก๋   และเทียบไม่ได้กับความโก้เก๋อันเกิดจากการใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ   ซึ่งจะเห็นได้ว่า   การอ่านหนังสือทำให้เกิดภาพลักษณ์ต่อผู้อ่านในเชิงลบได้อย่างไม่น่าเชื่อ   กล่าวคือ  ทำให้ผู้อ่านหนังสือดูขาดความเท่   ความโก้เก๋   และขาดความทันสมัย   ใช่แล้วครับ...   สมัยนี้  เขาค้นคว้าหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตกันแล้ว   ห้องสมุดดูมีคุณค่าน้อยลง   แล้วยังมีบางคนทำนายว่า   หนังสือกำลังจะสูญพันธุ์! เพราะมีซีดีรอมและดีวีดีรอมซึ่งมีความจุข้อมูลมากกว่าหนังสือหลายร้อยเท่าตัว  รวมทั้งมี"อีบุคส์"เผยแพร่และจำหน่ายในอินเตอร์เน็ตมากมาย   แต่ถ้ามองกันให้ถ้วนถี่และลึกซึ้งแล้ว   เราควรจะตระหนักว่า "คุณค่า" ไม่จำเป็นต้องคู่กับ"ความทันสมัย"   "ความเท่"   และ "เทคโนโลยี" เสมอไป   ในมุมมองของผมนั้น  "หนังสือ"ยังเป็นสื่อที่คลาสสิคและมีความ"ขลัง"ในตัวของมันเองเสมอ   และจะทรงคุณค่าอยู่คู่โลกนี้ตลอดไปครับ
     ๔.เป็นเพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังยากจนอยู่หรือเปล่า?   ความยากจนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการอ่านหนังสือ   กล่าวคือ
     ๔.๑. คนยากจนส่วนใหญ่มักมีการศึกษาต่ำ   และมีอัตราการไม่รู้หนังสือสูง   ดังนั้น   คนไม่รู้หนังสือย่อมไม่อ่านหนังสือเป็นธรรมดา
     ๔.๒. คนยากจนส่วนใหญ่ก็ต้องทำงานใช้ชีวิตแบบปากกัดตีนถีบ   ถึงจะรู้หนังสือ   แต่ก็คงไม่มีเวลามาอ่านหนังสือ   เพราะใช้เวลาจนหมดไปกับการทำมาหากินเป็นส่วนใหญ่(แต่ก็ยังไม่ค่อยจะพอกินอยู่ดี)
     ๔.๓. คนยากจนส่วนใหญ่ไม่สามารถส่งเสียให้บุตรหลานของตน เรียนหนังสือในระบบการศึกษาภาคบังคับได้   เพราะว่าไม่มีเงินพอจะซื้อข้าวของรวมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนได้   เช่น   ค่าตำราเรียน   ค่าชุดนักเรียน   ค่าเครื่องเขียน  ค่าทัศนศึกษา  เป็นต้น   ทำให้เกิดการสืบทอด"วัฒนธรรมการไม่รู้หนังสือและการไม่อ่านหนังสือ" ไปสู่รุ่นลูกและรุ่นหลานต่อไปได้ไม่รู้จบ
     ๔.๔.แนวคิดแบบ"บริโภคนิยม"ทำให้คนที่มีฐานะพออยู่พอกินนั้นสนใจแต่การแสวงหาวัตถุอันแสดงฐานะของตนเองและครอบครัว   เช่น   รถยนต์   รถจักรยานยนต์   โทรศัพท์มือถือ   ตู้เย็น   โทรทัศน์   เครื่องซักผ้า   เป็นต้น   จนแทบไม่มีเงินเหลือพอที่จะซื้อ"หนังสือดีๆ"สักเล่ม

     และเมื่อมาถึงตรงนี้แล้ว   ผมมีข้อเสนอที่อาจจะช่วยให้คนไทยอ่านหนังสือกันมากกว่านี้   โดยแบ่งเป็น ๒ ส่วน  คือ
     ๑.ในส่วนของ"หนังสือ"
     ๑.๑. ลดราคาหนังสือให้ถูกลงกว่านี้   ไม่ใช่มาลดราคากันเป็นพิเศษเฉพาะในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเท่านั้น
     ๑.๒. เพิ่มจำนวนหนังสือในห้องสมุดประชาชน  และเพิ่มจำนวนห้องสมุดประชาชนให้มากกว่านี้
     ๑.๓. จัดให้มีโครงการควบคุมคุณภาพของห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศ
     ๑.๔. กำหนดให้มีนโยบายระดับชาติเพื่อส่งเสริมและช่วยเหลืออาชีพนักเขียนและผู้ผลิตหนังสือให้ชัดเจน   รวมทั้งกำหนดนโยบายเพื่อช่วยในการลดต้นทุนในการผลิตหนังสือและนิตยสาร
     ๑.๕. ...(ให้ท่านผู้อ่านช่วยคิดและเติมข้อความให้ด้วยครับ)...
     ๒.ในส่วนของ"คนไทย"
     ๒.๑. ปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยให้รักการอ่านจนเป็นนิสัย และเป็นกิจวัตรประจำวัน
     ๒.๒. ส่งเสริมให้มีการมอบหนังสือให้เป็นของขวัญแทนสิ่งของอย่างอื่นในช่วงเทศกาลสำคัญ
     ๒.๓. ปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาของคนไทยให้ครูอาจารย์ส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเองจากการอ่านให้มากขึ้น   ไม่ใช่เน้นแต่การป้อนความรู้ให้นักเรียนนักศึกษา   จนกระทั่งเกิดความคิดที่ว่า   "เพียงแค่ตั้งใจเรียนในห้องเรียนอย่างเดียวก็เรียนเก่งได้โดยไม่ต้องอ่านตำราเพิ่มเติมอีก"(เอ!...เคยได้ยินคำพูดนี้จากที่ไหนนะ?)
     ๒.๔. แก้ปัญหาความยากจนของคนไทย   และส่งเสริมระบบการศึกษาภาคบังคับ
     ๒.๕. ...(ให้ท่านผู้อ่านช่วยคิดและเติมข้อความให้ด้วยครับ)...

     ผมอยากให้ท่านทั้งหลายช่วยกันเติมข้อความให้มากที่สุด   แล้วช่วยกันนำไปปฏิบัติให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมา   ผมเชื่อว่าถ้าคนไทยอ่านหนังสือกันปีละมากกว่า ๖ บรรทัดแล้ว   ประเทศไทยคงจะเจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านวัตถุและจิตวิญญาณมากกว่านี้แน่นอนครับ